xs
xsm
sm
md
lg

“วรวัจน์” กลับลำ ปัดให้ ร.ร.เก็บแปะเจี๊ยะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“วรวัจน์” ย้ำ ไม่เคยบอกว่าให้ ร.ร.เก็บแปะเจี๊ยะ รับแค่มีแนวคิดเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองที่พร้อมจ่าย เพื่อโอกาสที่ดีของลูก แต่ไม่ใช่จ่ายโดยมีเงื่อนไข ชี้ เป็นเพียงหลักการต้องหารือกับหลายฝ่าย ขณะที่ “อำนวย” ท้า รมว.ศธ.หากแก้ไขเอื้อประโยชน์แปะเจี๊ยะจะฟ้องศาลปกครองทันที ด้าน “ไพฑูรย์-กนก” ระบุ แนวคิดนี้จะส่งผลให้การศึกษากลับไปสู่วังวนเดิม

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า ตนไม่เคยพูดว่า จะเปิดโอกาสให้โรงเรียนเรียกเก็บเงินแปะเจี๊ยะได้ แต่ปัจจุบันมีผู้ปกครองส่วนหนึ่งพร้อมที่จะจ่ายเงินเพื่อให้บุตรหลานได้รับบริการการศึกษาที่มีคุณภาพสูงมากๆ จึงควรเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองกลุ่มนี้ร่วมระดมทรัพยากรให้โรงเรียนเพื่อตอบสนองเป้าประสงค์นั้น ขณะเดียวกัน จะได้นำงบประมาณเรียนฟรี 15 ปี ที่โรงเรียนกลุ่มนี้ปฏิเสธจะรับ ไปพัฒนาโรงเรียนด้อยโอกาสแทน เป็นการลดภาระงบประมาณของ ศธ.ไปด้วย ทั้งนี้ ยืนยันว่า การจ่ายเงินดังกล่าวต้องไม่มีเงื่อนไขแลกกับการรับเข้าเรียน

“จริงๆ แล้ว ทุกวันนี้ผู้ปกครองก็จ่ายเงินให้โรงเรียนอยู่ ผมเพียงต้องการทำให้การจ่ายเงินตรงส่วนนี้มันขึ้นอยู่บนดินโดยมีหลักการว่า ถ้าผู้ปกครองต้องการดูแลลูกตัวเองมากๆ เราก็ต้องเปิดโอกาสให้เขาทำได้ แต่ไม่ใช่ว่า ผู้ปกครองจะจ่ายเงินให้ใครก็ได้ จะต้องมีหลักเกณฑ์กำกับว่า ผู้ปกครองจะจ่ายเงินเพื่อพัฒนาโรงเรียนในส่วนไหนได้บ้าง เช่น โครงการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ และโรงเรียนก็จะต้องทำรายงานแสดงการระดมทรัพยากรส่วนนี้มายัง ศธ.ด้วย ซึ่งเรื่องนี้ยังแค่เริ่มต้นเป็นเพียงแนวคิดอยู่ ไม่ได้เป็นนโยบายที่เตรียมจะดำเนินการ ยังต้องผ่านการพูดคุยกับฝ่ายต่างๆ อีกหลายขั้นตอนกว่าจะได้บทสรุปและรายละเอียดในการดำเนินการ”

ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า หากจะเปิดโอกาสให้โรงเรียนที่มีความพร้อมได้ระดมทรัพยากรอย่างเต็มที่จากผู้ปกครองนั้น อยากให้รัฐบาลระมัดระวัง เพราะจะกลายเป็นการเปิดโอกาสให้คนที่มีฐานะดีได้รับประโยชน์ทางการศึกษาที่พิเศษกว่าคนอื่นๆ ดังนั้น รัฐบาลควรหาวิธีการที่จะดึงผู้มีฐานะดี มาช่วยเหลือคนที่ยากจน ขณะเดียวกัน ก็พัฒนาโรงเรียนอื่นให้มีคุณภาพมากขึ้น เพราะหากปล่อยให้เกิดช่องว่างความแตกต่างของคุณภาพโรงเรียน สุดท้ายก็จะวนกลับไปสู่ปัญหาเดิมๆ ที่ผู้ปกครองพยายามหาช่องทางให้ลูกของตนได้เรียนโรงเรียนที่ดี โรงเรียนขนาดใหญ่ ด้วยการจ่ายแปะเจี๊ยะ

นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) รมว.ศธ.(เงา) เปิดเผยว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของ นายวรวัจน์ ที่ให้ผู้ที่มีฐานะดีมีสิทธิ์เลือกโรงเรียนดีๆ ให้กับลูกหลานต่อไปหากผู้ปกครองคนใดอยากสนับสนุนโรงเรียนก็สามารถทำได้ ที่ผ่านมาปัญหาเรื่องเงินกินเปล่าหรือแป๊ะเจี๊ยะเคยสร้างปัญหาด้านต่างๆ ให้เป็นผลกระทบต่อการศึกษาอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องโอกาสและความเท่าเทียมด้านการศึกษา ซึ่งจะยิ่งขยายช่องว่างของโอกาสในการได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงของคนรวยกับคนจน และกระทบไปถึงมาตรฐานของโรงเรียนแต่ละแห่งซึ่งไม่เท่ากัน เป็นเรื่องที่แก้ได้ยากและต้องใช้เวลาจัดการอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปัญหากำลังจะย้อนกลับไปสู่วังวนเดิมๆ

“น่าแปลกใจอย่างยิ่งที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงด้วยการพยายามลดความเหลื่อมล้ำ ระหว่างคนรวยกับคนจน แต่กลับมีนโยบายที่หลุดมาจากปากรัฐมตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ที่ขัดแย้งกับนโยบายของพรรค จึงน่าสงสัยว่า นายกรัฐมนตรีทราบเรื่องนี้หรือไม่

ด้าน นายอำนวย สุนทรโชติ ประธานชมรมค่านิยมเพื่อสร้างชาติ กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และเป็นแนวคิดที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง อีกทั้งแปะเจี๊ยะนั้น ผิดรัฐธรรมนูญว่าด้วยการกีดกันคนโดยใช้ฐานะทางเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนด และผิดหลักคุณธรรม ถ้าท่านจะคิดนอกรีตก็ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญข้อนี้ก่อน แล้วไปแก้ไขหลักคุณธรรมของชาติให้ได้อีกทางหนึ่ง จึงจะทำให้แปะเจี๊ยะถูกกฎหมายได้ แต่การแก้ไขกฎหมายไม่ใช่การแก้ปัญหา เพราะฉะนั้น หากมีการแก้ไขกฎระเบียบให้เอื้อกับประเด็นดังกล่าวจริง ก็พร้อมที่จะนำเรื่องฟ้องศาลปกครอง
“เรื่องนี้เราเดินมาถูกทางแล้ว ปีที่ผ่านมามีผู้ร้องเรียนนี้น้อยลง จึงขอท้าให้รัฐมนตรี แก้กฎใดๆ ก็ตามที่เอื้อให้เกิดการจ่ายค่าแปะเจี๊ยะ เราจะสู้ไปถึงศาลปกครองแน่นอน เพราะเป็นการแบ่งแยกกีดกันคน โดยการใช้ฐานะทางเศรษฐกิจ” นายอำนวย กล่าว

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า การเปิดโอกาสให้โรงเรียนดังที่ไม่ขอรับเงินอดุหนุนรายหัวจากรัฐบาล สามารถเรียกเก็บเงินจากผู้ปกครองเพิ่มเติมได้นั้น ตรงกับแนวคิดโรงเรียนพรีเมียมสคูล (Premium School) หรือโครงการโรงเรียนศักยภาพสูงที่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งโรงเรียนที่เข้าโครงการนี้จะได้รับโอกาสให้เรียกเก็บเงินจากผู้ปกครอง ในเพดานที่สูงกว่าโรงเรียนปกติแต่ไม่ใช่ปล่อยให้โรงเรียนเรียกเก็บเงินเท่าใดก็ได้ และในวันที่ 14 ก.ย.นี้ สพฐ.จะเสนอโครงการดังกล่าวเพื่อขอความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)

“ระยะแรกของการดำเนินโครงการนั้นจะทำในรูปการเพิ่มสัดส่วนห้องเรียนพิเศษต่างๆ ก่อน เพราะฉะนั้น ในโรงเรียนเดียวกันจะมีห้องเรียนปกติและห้องเรียนพิเศษเพิ่มขึ้น จากนั้นในปลายทางโรงเรียนในกลุ่มนี้จะเป็นโรงเรียนที่มีห้องเรียนพิเศษทั้งหมดตอบสนองกลุ่มผู้ปกครองนักเรียนที่ต้องการที่เรียนคุณภาพสูง แต่ตรงนี้จะเป็นมาตรการระยะยาว เพราะต้องมีการปรับแก้กฎหมาย ปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารงานทั้งด้าน บุคลากร งบประมาณ และปรับรูปแบบการรับนักเรียนตามด้วย ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับโอกาสระดมทรัพยากรได้ เพราะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากปกติ เช่น ค่าจ้างครูต่างประเทศ ค่าอุปกรณ์การเรียนที่ทันสมัย ค่าอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง” เลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า

นายชินภัทร กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องการปรับรุปแบบการดำเนินการนโยบายเรียนฟรี เรียนดี 15 ปีอย่างมีคุณภาพนั้น สพฐ.เตรียมทำประชาพิจารณ์ หรือทำโพลสำรวจความคิดเห็นผู้ปกครอง นักเรียน ว่า ต้องการสนับสนุนรายการใดเพิ่มเติม โดยรายการที่ควรแจกให้ผู้ปกครองนั้น นอกจากจะโดนใจผู้ปกครองแล้ว จะต้องส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพนักเรียนด้วย
[ข้อมูลที่ถูกลบ]
[ข้อมูลที่ถูกลบ]
[ข้อมูลที่ถูกลบ]
[ข้อมูลที่ถูกลบ]
[ข้อมูลที่ถูกลบ]
กำลังโหลดความคิดเห็น