สธ.มอบให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม เร่งป้องกันปัญหาจมน้ำตาย ซึ่งยอดขณะนี้พุ่งถึง 123 ราย ย้ำเตือนให้ประชาชนจัดหาอุปกรณ์ชูชีพประจำเรือที่หาง่ายๆ ในพื้นที่ เช่น ยางในรถยนต์ ห่วงยาง แกลลอนเปล่าปิดฝาสนิท หรือลูกมะพร้าวแห้งผูกติดกัน หากเกิดอุบัติเหตุ สามารถใช้พยุงตัวไม่ให้จมน้ำได้
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ว่า เนื่องจากพื้นที่น้ำท่วมขณะนี้ขยายวงกว้างขึ้น บางพื้นที่ระดับน้ำลึกมาก ประชาชนเดินทางยากลำบากขึ้น เรื่องที่เป็นห่วงในขณะนี้ คือปัญหาการเสียชีวิตจากน้ำท่วม ซึ่งยอดล่าสุด มีจำนวนมากถึง 123 ราย ได้กำชับให้ทุกจังหวัดเร่งป้องกัน เพื่อลดการสูญเสีย จากการวิเคราะห์ข้อมูลในกลุ่มผู้เสียชีวิตของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในช่วงวันที่ 25 กรกฎาคม - 14 กันยายน 2554 ที่มีจำนวน 103 ราย พบว่าเป็นผู้ชายประมาณร้อยละ 70 อายุต่ำสุด 3 ปี สูงสุด 82 ปี โดยพบในกลุ่มอายุ 40-59 ปีมากที่สุด รองลงมาคืออายุ 10-19 ปี
สาเหตุเสียชีวิตเกือบร้อยละ 80 เกิดจากจมน้ำ โดยเกิดขณะออกไปหาปลามากที่สุด พบร้อยละ 30 หรือเกือบประมาณ 1 ใน 3 รองลงมาคือเล่นน้ำพบร้อยละ 14 ซึ่งมีข้อมูลผลสำรวจพบว่าเด็กไทยอายุ 5-14 ปี ว่ายน้ำไม่เป็นมากถึง 11 ล้านคน ดังนั้น จึงขอแนะนำให้ประชาชนที่ใช้เรือทุกคน จัดหาอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ เช่น เสื้อชูชีพ หากไม่มี ก็สามารถใช้วัสดุหรือของเหลือใช้อื่นๆที่หาได้ง่ายในหมู่บ้าน เช่น ผลมะพร้าวแห้งมัดผูกติดกัน แกลลอนน้ำเปล่าปิดฝาสนิท ห่วงยาง หรือยางในรถยนต์ที่เป่าลมเต็ม เพื่อไว้ประจำเรือ เมื่อเกิดอุบัติเหตุ สามารถใช้เกาะ พยุงตัวไม่ให้จมน้ำได้
ทั้งนี้ ในวันนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดส่งยาช่วยเหลือผู้ประสบภัยไปให้ 10 จังหวัด รวม 125,000 ชุด ประกอบด้วย อ่างทอง 20,000 ชุด ชัยนาท 17,000 ชุด อุทัยธานี ,นครนายก จังหวัดละ 5,000 ชุด เพชรบูรณ์ 10,000 ชุด ปทุมธานี 20,000 ชุด สกลนคร 14,000 ชุด สุพรรณบุรี 20,000 ชุด ปราจีนบุรี 4,000 ชุด และจันทบุรี 10,000 ชุด
สำหรับผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในวันที่ 19 กันยายน 2554 ใน 26 จังหวัดพบผู้เจ็บป่วย 8,396 ราย ยอดสะสมตั้งแต่หลังน้ำท่วมเป็นต้นมา มีทั้งหมด 260,365 ราย โรคที่พบอันดับ 1 คือ น้ำกัดเท้า รองลงมาคือไข้หวัด ปวดเมื่อย โรคผื่นคัน และโรคเครียด ส่วนด้านปัญหาสุขภาพจิต พบผู้ประสบภัยมีอาการซึมเศร้า 3,040 ราย เสี่ยงฆ่าตัวตาย 339 ราย และมีผู้ที่ต้องติดตามดูแลเป็นพิเศษ 410 ราย