“สันติ” หนุนขยายโรงจำนำทั่ว ปท.จังหวัดละ 2 ที่ กัน ปชช.กู้นอกระบบ ชี้ ดอกเบี้ยถูกกว่าของเอกชน สั่งเร่งศึกษา เพื่อเร่งเปิดภายใน 6 เดือน พร้อมมีแนวคิดดึง สคบ.มาอยู่ในสังกัด พม.เหตุบุคลากรน้อย พม.จังหวัดเข้าถึง ปชช.มากกว่า
วันนี้ (15 ก.ย.) ที่ห้องประชุมบ้านราชวิถี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกระทรวง พม.กล่าวในการมอบนโยบายการทำงานให้กับผู้บริหารและข้าราชการกระทรวง พม.โดยมี นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม.พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวง พม.ให้การต้อนรับ ว่า กระทรวง พม.ถือเป็นกระทรวงที่สำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านสังคม เพราะดูแลกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย ทั้งเด็ก เยาวชน สตรี ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ งานด้านสังคมจึงมีความสำคัญ เพราะเป็นงานที่ต้องใช้ความเสียสละจึงขอให้ข้าราชการทุกคนช่วยกันขับเคลื่อน งานเพื่อให้บรรลุตามแผนปฏิบัติงานของกระทรวง พม.ที่วางไว้ แต่ขณะนี้งานเฉพาะหน้าเร่งด่วนที่ต้องช่วยกันแก้ปัญหาคือการเยียวยาประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในหลายจังหวัดก่อน
นายสันติ กล่าวว่า กระทรวง พม.มีแผนการดำเนินงานที่จะขยายสาขาของสำนักงานธนานุเคราะห์ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในกำกับของกระทรวง พม.ให้ครบทั้ง 77 จังหวัด ภายใน 6 เดือน โดยให้ผู้อำนวยการสำนักงานธนานุเคราะห์ศึกษาและนำเรื่องเสนอภายใน 1 เดือน ซึ่งปัจจุบันสถานธนานุเคราะห์มีที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเพียง 33 แห่ง และจะเปิดแห่งที่ 34 ที่จังหวัดนนทบุรี ปลายปีนี้ เพื่อช่วยแก้ปัญหาประชาชนที่มีรายได้น้อย และไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาครัฐ หรือธนาคารต่างๆ ได้เข้ามาใช้บริการที่สถานธนานุเคราะห์ เพื่อป้องกันการพึ่งเงินกู้นอกระบบ เพราะสถานงานธนานุเคราะห์คิดดอกเบี้ยต่ำกว่า สถานธนานุบาลที่เอกชนดำเนินการ โดยวงเงินรับจำนำ 5,000 บาทแรก คิดดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 บาท ขณะที่สถานธนานุบาลของเอกชนคิดดอกเบี้ยร้อยละ 2 บาท ที่ผ่านมา สถานธนานุเคราะห์ไม่สามารถขยายสาขาไปยังต่างจังหวัดได้ เพราะในแต่ละจังหวัดจะให้เทศบาลเป็นผู้ดำเนินการในการเปิดสถานธนานุบาลเอง ข้อติดขัดในส่วนนี้ตนจะไปหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดในการขอความร่วมมือเพื่อเปิดสถานธนานุเคราะห์ในแต่ละจังหวัดต่อไป ในเบื้องต้นตั้งใจไว้ว่าจะขยายสาขาให้ได้จังหวัดละ 2 สาขา
นายสันติ กล่าวอีกว่า กระทรวง พม.มีแผนงานที่จะดำเนินงานในส่วนของการปรับปรุงกระทรวง โดยมีแนวคิดที่จะขอให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่อยู่ในการกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี มาอยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวง พม.เพราะ สคบ.นั้น มีบุคลากรน้อย และไม่ค่อยครอบคลุมในต่างจังหวัด ซึ่งพม.ถือเป็นหน่วยงานที่ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนใน ทุกกลุ่มอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม คงต้องหารือกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบก่อน รวมทั้งหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาถึงข้อกฎหมายด้วย