รายงานพิเศษโดย : รัชญา จันทะรัง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาการจราจรเป็นปัญหาหลักคนกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นคนฝั่งพระนคร หรือฝั่งธนบุรี ต่างต้องเผชิญรถติดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เหตุเพราะปริมาณรถที่เพิ่มมากขึ้นสวนทางกับโครงข่ายถนนที่มีไม่เพียงพอ และไม่สามารถเพิ่มพื้นที่จราจรได้ทันกับจำนวนยานยนตร์ที่มากขึ้นในระยะเวลาไม่กี่สิบปี
สำหรับความเร็วเฉลี่ยในการเดินทางในย่านธุรกิจช่วงชั่วโมงเร่งด่วนประมาณ 10 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งจะวิกฤติขึ้นเรื่อยๆ และอาจลดลงเหลือเพียง 2-5 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในอนาคตอันใกล้
โดยเฉพาะฝั่งธนบุรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่แม้ยังทรงพำนักเพื่อรักษาพระวรกาย ณ โรงพยาบาลศิริราช แต่พระองค์ยังทรงห่วงใยการแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่ย่านศิริราช และใกล้เคียง อันจะเห็นได้จากพระองค์ท่านได้มีพระราชกระแสให้คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร(กทม.) กระทรวงคมนาคม กองทัพเรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงบประมาณ และกองบัญชาการกองทัพไทย เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการจราจรรอบโรงพยาบาลศิริราช โดยใช้ที่ดินของโรงพยาบาลศิริราช การรถไฟแห่งประเทศไทย และกองทัพเรือ มี กทม.เป็นผู้ดำเนินงานสำรวจและออกแบบโครงการก่อสร้างต่างๆ ซึ่งได้มีการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาในการศึกษาโครงการดังกล่าว
กันต์ณธีร์ เนติโรจนชัยชาญ รองผู้จัดการโครงการศึกษา สำรวจ ออกแบบ ปรับปรุงแก้ไขปัญหาจราจร ระบบรายน้ำบริเวณโดยรอบโรงพยาบาลศิริราชและพื้นที่ต่อเนื่อง อธิบายว่า โครงการนี้จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม 6 โครงการ ได้แก่ กลุ่มที่ 1 โครงการที่รับสนองพระราชดำริ คือ งานปรับปรุงโครงข่ายถนนบริเวณริมคลองบางกอกน้อย และบริเวณศูนย์ความเป็นเลิศ ซึ่งจะเป็นการปรับปรุงถนนริมคลองบางกอกน้อย และถนนรถไฟให้เป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 2-3 ช่องจราจร พร้อมปรับปรุงทางเท้าและระบบรายน้ำ และโครงการขยายสะพานอรุณอัมรินทร์พร้อมทางขึ้น-ลง และทางยกระดับข้ามแยกศิริราชโดยจะขยายสะพานอรุณอัมรินทร์เพิ่มอีก 2 ช่องจราจรที่จะวิ่งผ่านแยกศิริราชไปยังบริเวณหน้ากรมอู่ทหารเรือ มีการปรับปรุงเชิงลาดของทางลงบริเวณด้านข้างวัดอมรินทรารามวรวิหารที่ลงจากสะพานอรุณอัมรินทร์ให้สั้นลง และขยับชิดแนวรั้ววัดเพื่อเพิ่มจำนวนช่องจราจรในถนนรถไฟ ปรับปรุงทางลาดขึ้นสะพานอรุณอัมรินทร์จากถนนรถไฟขึ้นใหม่เพื่อเชื่อมต่อกับทางลาดโค้งขึ้นจากถนนริมคลองบางกอกน้อย เพื่อให้รถจากหน้าศูนย์ความเป็นเลิศ สามารถวิ่งเข้าแยกอรุณอมรินทร์ได้สะดวกขึ้น
รวมถึงก่อสร้างจุดกลับรถใต้สะพานอรุณอมรินทร์ใหม่ บริเวณเชิงลาดฝั่งโรงพยาบาลศิริราชสำหรับรถขนาดเล็ก โดยขยับโครงสร้างสะพานฝั่งขาเข้าเพื่อสร้างทางกลับรถขนาด 1 ช่องจราจร รื้อย้ายโครงการสร้าง และแนวรั้วฝั่งโรงเรียนวัดอมรินทราราม อาการ กก.สส.น.7 ที่ไม่ใช้งานแล้ว แนวรั้ววัดอมรินทรารามฯ และแนวรั้วโรงพยาบาลศิริราชบริเวณหน้าตึกอาคารสลากกินแบ่งรัฐบาล ปรับปรุงทางเข้าตึกผู้ป่วยนอก ทางเดิน สะพานคนเดินข้าม และพิจารณาทำทางเดินยกระดับต่อเข้าตึกผู้ป่วยนอก
กลุ่มที่ 2 โครงการที่มีการติดตาม ตามโครงการพระราชดำริเดิม ได้แก่ โครงการก่อสร้างขยายถนนสุทธาวาส และสะพานข้ามถนนจรัญสนิทวงศ์ โดยจะขยายช่องจราจรของถนนสุทธาวาสช่วงจากถนนอิสรภาพจนถึงถนนจรัญสนิทวงศ์ให้เป็น 4 ช่องจราจร และก่อสร้างสะพานข้ามแยกขนาด 2 ช่องจราจรไปกลับ ข้ามถนนจรัญสนิทวงศ์ตามแนวถนนสุทธาวาส
และกลุ่มที่ 3 โครงการที่ กทม.กำลังศึกษา ได้แก่ งานก่อสร้างทางกลับรถใต้สะพานข้ามคลองบางกอกน้อยบนถนนจรัญสนิทวงศ์ เพื่อให้รถจากถนนบางขุนนนท์ ที่จะเลี้ยวขวาไปแยกไฟฉาย เปลี่ยนมาเลี้ยวซ้ายแล้วกลับรถใต้สะพานข้ามคลองบางกอกน้อย แล้วมุ่งไปแยกไฟฉายแทนการเลี้ยวขวา, งานขยายสะพานข้ามคลองบางกอกน้อยบนถนนจรัญสนิทวงศ์ และโครงการสะพานข้ามแยกเลี้ยวขวาจากถนนจรัญสนิทวงศ์ เข้าถนนบางขุนนนท์ เพื่อลดจังหวะสัญญาณไปจราจรให้รถทางตรงเคลื่อนตัวได้ดีขึ้น
กันต์ณธีร์ อธิบายต่อว่า วัตถุประสงค์สำคัญของโครงการนี้เพื่อแก้ปัญหาการจราจรฝั่งธนบุรี โดยเฉพาะบริเวณย่านศิริราช ย่านบ้านช่องหล่อ และย่านอรุณอมรินทร์ รวมถึงสามารถรองรับปริมาณการเดินทางที่จะเพิ่มมากขึ้นหลังโครงการพัฒนาศิริราชสู่สถาบันการแพทย์ชั้นเลิศในเอเชียอาคเนย์ ซึ่งกำลังจะเปิดให้บริการประชาชน รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายถนนฝั่งธนบุรี ตลอดจนเพื่อปรับปรุงกายภาพของถนนบริเวณย่านศิริราช ย่านบ้านช่องหล่อ และย่านอรุณอมรินทร์ ให้ได้มาตรฐาน และที่ขาดไม่ได้ คือ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยต่อผู้ใช้รถใช้ถนน และมีทางเลือกให้กับผู้ที่ต้องการเดินทางมาที่ย่านนี้มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น โดยยึดแนวพระราชดำริในแก้ไขปัญหาที่ต้องหลีกเลี่ยงผลกระทบกับประชาชนแต่หากมีความจำเป็นจะต้องเกิดผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด และต้องช่วยเหลือเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม
รองผู้จัดการโครงการ ระบุว่า การดำเนินโครงการในครั้งนี้จะไม่มีการเวนคืนที่ดินของประชาชนแต่อย่างใด โดยประโยชน์ที่จะได้รับนั้นจะเป็นการเพิ่มโครงข่ายถนนที่เชื่อมโยงพื้นที่ฝั่งตะวันตกและตะวันออกของ กทม.และเพิ่มประสิทธิภาพในการจราจรที่จะข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านสะพานพระราม 8 และสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า และจะช่วยลดปัญหาการจราจรบริเวณแยกอรุณอมรินทร์ แยกศิริราช แยกพรานนก แยกไฟฉาย และทางแยกอื่นๆ ที่ต่อเนื่อง และยังเป็นการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพของโครงข่ายจราจรรอบย่านศิริราช และพื้นที่ต่อเนื่อง ทำให้การเดินทางเข้า-ออกจากโรงพยาบาลศิริราชมีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินมีโอกาสเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ทันท่วงทีมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการลดจุดตัดและทางแยกสัญญาณไฟจราจรในถนนจรัญสนิทวงศ์ที่เป็นส่วนหนึ่งของถนนวงแหวนรัชดาภิเษกทำให้ถนนวงแหวนรัชดาภิเษกในฝั่งธนบุรีเดินทางได้ต่อเนื่องโดยตลอด
ส่วนระบบระบายน้ำนั้น ทาง บ.ที่ปรึกษาฯได้นำผลการศึกษา สำรวจ ออกแบบ และจัดทำแผนแม่บทระบายน้ำในพื้นที่เขตบางกอกน้อย เขตบางกอกใหญ่ เขตธนบุรี เขตราษฎร์บูรณะ เขตทุ่งครุ และเขตบางขุนเทียนบางส่วนของสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. ฉบับเดือนตุลาคม 2548 โดยเลือกพื้นที่เฉพาะระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองบางขุนศรี และคลองบางกอกใหญ่ มาศึกษาทบทวนปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการระบายน้ำควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาจราจรอันจะทำให้ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ฝั่งธนบุรีบริเวณย่านศิริราช ย่านบ้านช่างหล่อ และย่านอรุณอัมรินทร์ หมดลงได้