xs
xsm
sm
md
lg

ปลัดแรงงานยันเงินเดือน 1.5 หมื่น ไม่ทำ ป.ตรี จบใหม่ตกงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปลัดแรงงานไม่หวั่น ป.ตรี ตกงานจากนโยบายเงินเดือน ป.ตรี 1.5 หมื่น ชี้ มีตำแหน่งงานรองรับเดือนละ 2 แสนตำแหน่ง กกจ.ชงของบปี 55 กว่า 193 ล้านบาท ปรับงานนัดพบแรงงานให้เข้าถึงกลุ่ม นศ.มากขึ้น ชี้ บัณฑิตสายสังคมตกงานมากที่สุด นักวิชาการแนะขยับเงินเดือนวุฒิ ปวช.-ปวส.ปรับแผนผลิตกำลังคนลดสายสังคมเพิ่มสายวิทย์-เทคโนโลยี

จากผลสำรวจของศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ หรือกรุงเทพโพลล์ ซึ่งสำรวจความเห็นของนิสิตนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ในสถาบันอุดมศึกษารัฐและเอกชนกว่า 1.1 พันคนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เกี่ยวกับนโยบายปรับเงินเดือนปริญญาตรีเป็น 1.5 หมื่นบาทของรัฐบาล ซึ่งจำนวน 69.4% เห็นว่า หากนโยบายของรัฐบาลมีผลบังคับใช้จริง จะส่งผลให้หางานทำได้ยากขึ้นและเกณฑ์ในการรับสมัครน่าจะเข้มขึ้นและ 30% กังวลว่า บริษัทเอกชนจะเปิดรับผู้ที่จบปริญญาตรีเข้าทำงานน้อยลงนั้น

วันนี้ (7 ก.ย.) นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) กล่าวว่า ไม่กังวลว่านโยบายดังกล่าว จะทำให้บัณฑิตปริญญาตรีตกงานเพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบันมีตำแหน่งงานว่างรองรับเดือนละ 2 แสนตำแหน่ง อีกทั้งเชื่อว่าจะมีการขยับเงินเดือนระดับวุฒิปวช.-ปวส.ให้สูงขึ้นตามไปด้วยตามกลไกของตลาด จะไม่ทำให้คนแห่ไปเรียนปริญญาตรีมากขึ้น
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นางสุทัศนี สืบวงศ์แพทย์ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ปัจจุบันอัตราว่างงานของประเทศไทยอยู่ที่ 0.7 % ซึ่งถือเป็นอัตราที่ต่ำมาก และผู้ที่ตกงานมากที่สุด คือ ผู้ที่จบปริญญาตรีในสาขาสายสังคมศาสตร์ เช่น รัฐศาสตร์ ส่วนสาขาซึ่งเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานมากคือผู้ที่จบวุฒิปวช.-ปวส.ในสาขาต่างๆ ทั้งนี้ กกจ.จะจัดงานมหกรรมนัดพบแรงงานครั้งใหญ่ในวันที่ 19-20 ก.ย.ที่กระทรวงแรงงาน ส่วนระยะยาวได้ของบประมาณปี 2555 จากรัฐบาลเป็นจำนวน 193 ล้านบาทเพื่อปรับปรุงการจัดงานมหกรรมนัดพบแรงงานซึ่งจัดปีละ 22 ครั้ง ให้มีประสิทธิภาพและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักเรียนนักศึกษามากยิ่งขึ้น

ผศ.ดร.วิชัย โถสุวรรณจินดา อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ในฐานะนักวิชาการด้านแรงงาน กล่าวว่า เชื่อว่า นโยบายปรับเงินเดือนปริญญาตรีเป็น 1.5 หมื่นบาท จะทำให้บัณฑิตวุฒิปริญญาตรีตกงานเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้วุฒิปริญญาตรีก็ตกงานมากที่สุดอยู่แล้ว เนื่องจากปัจจุบันสถานประกอบการขาดแคลนแรงงานที่มีวุฒิปวช.และปวส.และจ้างงานวุฒิปริญญาตรีน้อย ทั้งนี้ นโยบายนี้จะทำให้สถานประกอบการหันไปจ้างผู้จบวุฒิปวช.และปวส.มากขึ้นกว่าเดิมเพราะจ่ายเงินเดือนน้อยกว่า

“รัฐบาลควรเตรียมวางมาตรการช่วยเหลือผู้ที่จบปริญญาตรีรุ่นใหม่ที่ตกงาน เช่น การพัฒนาทักษะและความรู้เพื่อให้ศักยภาพทำงานได้มากกว่าคุณวุฒิปริญญาตรี การส่งเสริมให้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอีมีการจัดอบรมการประกอบอาชีพ จัดหาทุนและตลาดรองรับสินค้าเพื่อจะได้ไม่ต้องไปพึ่งการจ้างจากนายจ้าง และระยะยาวต้องปรับแผนผลิตกำลังคนสัดส่วนการผลิตบัณฑิตโดยลดการผลิตบัณฑิตสายสังคมศาสตร์ไปผลิตสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งสาขาที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานให้มากขึ้น” ผศ.ดร.วิชัย กล่าว

ผศ.พยน สุรินจำลอง รองคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลับหอการค้าไทย (มกค.) กล่าวว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังปรับเงินเดือนให้กับผู้จบปริญญาตรี คือ การเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคเอกชน ไปยังภาครัฐ เนื่องจากค่าจ้าง 15,000 บาท จะเริ่มกับภาครัฐและรัฐวิสาหกิจก่อน ซึ่งจะส่งผลดีกับภาครัฐที่จะได้บุคคลที่มีความสามารถขึ้น และมีความเป็นไปได้ที่ภาคเอกชนจะหันไปจ้างระดับ ปวช.และ ปวส.มากขึ้น

“รัฐบาลควรวางมาตรการในระยะกลางและระยะยาว คือ เมื่อปรับเงินเดือนให้แก่ผู้ที่จบปริญญาตรีก็ควรขยับฐานค่าจ้างให้แก่ผู้ที่มีวุฒิระดับ ปวช.-ปวส.ด้วย ส่วนผู้ที่ทำงานมานาน รัฐบาลก็ควรให้ความเป็นธรรมในการปรับเงินเดือนให้สูงกว่าผู้ที่เข้าใหม่ เพระกลุ่มเหล่านี้ถือว่าเป็นผู้ที่มีความสามารถ เนื่องจากทำงานมานานไม่ต้องฝึกทักษะเพิ่ม” ผศ.พยน กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น