xs
xsm
sm
md
lg

แพทยสภาตั้งคณะอนุฯพิจารณาร่าง “วาระสุดท้ายของชีวิต”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แพทยสภาตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาร่างกำหนด “วาระสุดท้ายของชีวิต” สช.ยังเดินหน้าชี้แจงหลักการหนังสือฯต่อเนื่อง

วานนี้ (29 ส.ค.) ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กุสลานันท์ นายกแพทยสภา กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการเกี่ยวกับประกาศสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ซึ่งเป็นกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย ตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 หรือสิทธิการตายว่า การกำหนดวาระสุดท้ายของชีวิต ตามกฎกระทรวงฯเขียนไว้ค่อนข้างกว้าง อาจจะมีปัญหาหาในทางปฏิบัติ ดังนั้น แพทยสภาจะเป็นผู้กำหนดนิยามของคำว่าวาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งขณะนี้ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาร่างข้อบังคับในการวินิจฉัยคำว่า วาระสุดท้ายของชีวิต ขึ้น ซึ่งมีตนเป็นประธาน พร้อมทั้งได้เชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและราชวิทยาลัยต่างๆ มาประชุมภายในต้นเดือนกันยายน คาดว่าจะได้ข้อสรุปใน 1-2 เดือนโดยร่างข้อบังคับดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นข้อมูลวิชาการว่า วาระสุดท้ายของแต่ละภาวะ หรือแต่ละโรคเป็นอย่างไร ซึ่งระหว่างที่ร่างข้อบังคับฯ ยังไม่แล้วเสร็จ แพทยสภาจะทำหนังสือไปยังแพทย์ทั่วประเทศให้ปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติที่แพทยสภากำหนดก่อนหน้านี้ไปก่อน นอกจากนี้ จะทำหนังสือถึงนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พิจารณาแก้กฎกระทรวงตามประกาศ สช. เนื่องจากมีประเด็นที่ไม่ชัดเจน และยากต่อการปฏิบัติ เช่น ควรตัดกรณีผู้ป่วยมีสภาพเหมือนผักถาวร เพราะภาวะดังกล่าวผู้ป่วยอาจไม่ถึงขั้นเสียชีวิต แพทย์ไม่ควรดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนา ขณะเดียวกันควรตัดเรื่องความทรมานทางจิตใจออก เพราะไม่เกี่ยวข้องกับการยุติการการทรมานการเจ็บป่วย และข้อกำหนดสถานที่ในการทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ซึ่งเดิมระบุให้ทำที่ใดก็ได้ ซึ่งจริงๆแล้วควรให้มีการทำหนังสือได้ในสถานที่ 4 แห่งเท่านั้น คือ โรงพยาบาลที่คนไข้รักษาตัว สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอและสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ด้านนพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการ สช.กล่าวว่า ในส่วนของ สช.ยังเดินหน้าชี้แจงเรื่องแนวทางการปฏิบัติตามกฎกระทรวงอย่างต่อเนื่อง โดยจากการพูดคุยกับแพทย์โรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง ก็มีการใช้บ้างแล้ว แต่ไม่สามารถรวบรวมข้อมูลเป็นตัวเลขได้ เพราะเป็นข้อมูลของทางสถานพยาบาล อย่างไรก็ตาม การนำหนังสือมาใช้ก็ยังไม่ก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติแต่อย่างใด ขณะนี้โรงพยาบาลบางแห่งซึ่งมีบริการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยชาวต่างชาตินั้น ก็พบว่า ส่วนมากผู้ป่วยพกหนังสือแสดงสิทธิ์มาแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้ง ซึ่งในส่วนของประชนคนไทยนั้น หากมีการเร่งชี้แจงทำความเข้าใจก็จะสามารถใช้หนังสือได้ง่าย ซึ่งเมื่อต้นเดือน ส.ค.ก็ได้ประชุมชี้แจงแก่เครือข่ายภาคประชาชนที่เป็นหน่วยงานหลักไปบ้างแล้ว เช่น เครือข่ายผู้สูงอายุ ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย

นพ.อำพล กล่าวต่อว่า ในวันที่ 14 ก.ย.นี้ จะมีการลงนามความร่วมมือด้านพัฒนามาตรฐานวิชาชีพของพยาบาลให้รองรับสิทธิของประชาชน ระหว่าง สช.กับเครือข่ายวิชาชีพพยาบาล ประกอบไปด้วย สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สภาการพยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์ และวิทยาลัยการพยาบาล โดยจะเน้นการร่วมมือกันในเรื่องการพัฒนาคุณภาพวิชาชีพที่สอดคล้องกับสิทธิประชาชน ซึ่งหมายรวมถึง เรื่องหลักการของหนังสือแสดงสิทธิการตายด้วย เพราะถือว่า เป็นสิทธิส่วนบุคคล ของประชาชนโดยตรง
กำลังโหลดความคิดเห็น