อย.ลุยพัฒนางานคุ้มครองผู้บริโภค ก้าวต่อไปในปี 2555 เน้นงานด้านบริการ เพิ่มความสะดวกในการติดต่อของผู้ประกอบการด้วยการบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ พิจารณาอนุญาตการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างรวดเร็ว พร้อมถ่ายโอนภารกิจงานด้านตรวจประเมินสถานที่ผลิตให้กับหน่วยงานที่ได้มาตรฐาน นำ Social Media มาใช้ในการสื่อสาร พร้อมพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับสากล ย้ำ จุดยืนของ อย.ดำเนินงาน ด้วยความฉับไว โปร่งใส เท่าเทียมกัน พร้อมคุ้มครองประชาชนให้ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ มีสุขภาพแข็งแรงและคุณภาพชีวิตที่ดี
ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยต่อสื่อมวลชนภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาประสานความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กับภาคธุรกิจ ว่า ในรอบปีที่ผ่านมา อย.ได้สนองตอบต่อความต้องการของภาคธุรกิจในการอำนวยความสะดวกการขออนุญาตขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพด้วยบริการที่รวดเร็ว เท่าเทียม และโปร่งใสในทุกขั้นตอน ผลงานที่ผ่านมามีการพัฒนาระบบสารสนเทศด้านต่างๆ โดยการนำระบบ e-logistic มาใช้ ในการบริการด้านอาหาร ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ วัตถุอันตราย และวัตถุเสพติด รวมทั้งนำระบบ e-Submission มาใช้ โดยเปิดใช้ระบบคำขอ certificate ของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและวัตถุอันตรายแล้ว เปิดใช้งานทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยให้บริการจดแจ้งเครื่องสำอางผ่านทางอินเทอร์เน็ต
นอกจากนี้ ยังพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมศุลกากร โดยนำข้อมูลเครื่องสำอางที่จดแจ้งแล้วเชื่อมโยงกับกรมศุลกากร ซึ่งจะเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของอาเซียนในปี 2556 ต่อไป นอกจากนี้ อย. ได้มีการพัฒนากฎหมาย กฎ ระเบียบ อย่างต่อเนื่องให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เช่น การปรับปรุงพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 โดยยกร่างพระราชบัญญัติอาหารฉบับใหม่ ให้ทันสมัยสอดคล้องกับกติกาสากล ดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและเกิดประโยชน์ต่อธุรกิจการค้า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดทำประชาพิจารณ์ พร้อมกันนี้ ยังดำเนินมาตรการป้องกันการนำวัตถุอันตรายไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยผู้ประกอบการให้ความร่วมมือในการรับรองว่าจะควบคุมดูแลให้มีการใช้ผลิตภัณฑ์ในทางสาธารณสุขเท่านั้น จะไม่นำไปใช้ทางการเกษตร และเพิ่มข้อความบนฉลาก “ห้ามนำไปใช้ทางการเกษตร” ที่สำคัญ อย.ยังขับเคลื่อนมาตรการแก้ไขปัญหาคุณภาพมาตรฐานและความไม่ปลอดภัยด้านอาหาร เช่น การปรับปรุงการแสดงฉลากโภชนาการ โดยนำรูปแบบการแสดงฉลากอาหารแบบ GDA มาใช้ ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2554
รองเลขาธิการ อย.กล่าวต่อไปว่า ทิศทางการดำเนินงานในอนาคต อย. จะเน้นการยกระดับพัฒนามาตรฐานการให้บริการ โดยจะอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการด้วยการบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในปี 2555 นี้ ข้อมูลด้านอาหาร ยา เครื่องมือแพทย์ วัตถุอันตราย วัตถุเสพติด จะมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมศุลกากรในส่วนกลาง นอกจากนี้ จะยกระดับการควบคุมเครื่องมือแพทย์ให้มีความปลอดภัยในการใช้และสอดคล้องกับการควบคุมในระดับสากล เช่น ถุงบรรจุเลือด สารฟอกสีฟัน อุปกรณ์เสริมความงาม เป็นต้น รวมถึงการสร้างเครือข่าย
ด้านเครื่องมือแพทย์ เพื่อรองรับการกำกับดูแลด้านเครื่องมือแพทย์ทั้งก่อนและหลังการออกสู่ตลาด พร้อมทั้งมีการถ่ายโอนภารกิจ เช่น การตรวจประเมินสถานประกอบการเพื่อประกอบการออกใบอนุญาตอาหาร โดยถ่ายโอนเฉพาะกระบวนการตรวจประเมินสถานที่ผลิตให้กับหน่วยตรวจ (Inspection Body:IB) ที่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อตรวจสอบสถานประกอบการแทนเจ้าหน้าที่รัฐ นอกจากนี้ อย.ยังจัดทำระบบสื่อสารความเสี่ยงด้วยระบบสากลว่าด้วยการจัดกลุ่มผลิตภัณฑ์เคมี การติดฉลากและข้อมูลความปลอดภัย หรือ GHS ซึ่งจะกำหนดให้มีการจัดทำฉลากและเอกสารความปลอดภัยในแนวทางเดียวกันทั่วโลก ทั้งนี้ อย.มีนโยบายเร่งรัดแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมภาคธุรกิจให้เจริญเติบโต สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก โดยพร้อมที่จะรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายทั้งภาคเอกชนและประชาชนต่อการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภค