xs
xsm
sm
md
lg

คร.ร่วมมือกรมราชทัณฑ์คุมโรคในเรือนจำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 นพ.มานิต  ธีระตันติกานนท์
กรมควบคุมโรค  ลงนามข้อตกลงร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์ เฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพในเรือนจำ หลังพบเป็นกลุ่มเสี่ยงเป็นโรคสารพัด ทั้งเอชไอวี-วัณโรค

วันนี้ (22  ส.ค.)  นพ.มานิต  ธีระตันติกานนท์  อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.)  กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)   และ นายชาติชาย สุทธิกลม  อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม  ลงนามข้อตกลงความร่วมมือในการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมและภัยสุขภาพในเรือนจำ  พร้อมด้วย นายแพทย์ สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค  และ นายแพทย์ มิชเชล วูลฟ์  ผู้อำนวยการโครงการเอดส์โลก ประเทศไทย และภาคพื้นเอเชีย เข้าร่วมในพิธีลงนาม
 

โดย นพ.มานิต   กล่าวว่า   กลุ่มผู้ต้องขังเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลายอย่าง อาทิ  โรคเอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ วัณโรค  อหิวาตกโรค  อาหารเป็นพิษ  โรคติดต่อทางเดินหายใจ  โรคผิวหนัง   รวมทั้งโรคไม่ติดต่อ เช่น  เบาหวาน  โรคความดันโลหิต โรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากสิ่งแวดล้อม และพฤติกรรม  ดังนั้น การเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรค  และภัยสุขภาพ  รวมทั้งควบคุมการระบาดของโรค จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการส่งเสริมคุณภาพชีวิต  เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายและงบประมาณในการรักษาโรค และฟื้นฟูสภาพความเจ็บป่วย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะให้ได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพ   แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานความดันโลหิตต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย  
 

นพ.มานิต กล่าวด้วยว่า   ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรคได้มีโครงการเข้าถึงบริการด้านการป้องกันและดูแลรักษาเอชไอวี (HIV) ในกลุ่มผู้ต้องขัง  โดยนำร่องในเรือนจำ 5 แห่ง  ได้แก่  เรือนจำกลางขอนแก่น  เรือนจำกลางอุดรธานี  เรือนจำกลางเชียงราย  ทัณฑสถานวัยหนุ่มกลางปทุมธานี  และทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น โดยมุ่งเน้นการวางระบบบริการด้านการป้องกันและดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) โรคเอดส์ที่ครบวงจรแก่ผู้ต้องขัง  โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการจากศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ ด้านสาธารณสุข ระบบการป้องกัน ที่ครบวงจร ประกอบไปด้วย 1.  การปรับทัศนคติเจ้าหน้าที่ผู้คุม เพื่อให้เข้าใจและยอมรับการอยู่ร่วมกันกับผู้ติดเชื้อ 2.  การพัฒนาศักยภาพผู้คุมให้มีความรู้ความสามารถในการเป็นวิทยากรเรื่องโรคเอดส์  3.  การสร้างอาสาสมัครผู้ต้องขังให้เป็นแกนนำ ทำหน้าที่ขยายผลการให้ความรู้ด้านการป้องกันเอดส์     และกระจายถุงยางอนามัยให้กับผู้ต้องขังรายอื่นๆ ในแดน    4.  การพัฒนา  “มุมแกนนำ” เป็นสถานที่ที่ให้แกนนำอาสาสมัครทำหน้าที่ให้คำปรึกษา 5.  การสนับสนุนการจัดกิจกรรมขยายผลการดำเนินงานของอาสาสมัครในแดน  6.  การพัฒนาสื่อเพื่อให้แกนนำอาสาสมัครใช้ในการพูดคุยกับเพื่อนผู้ต้องขัง  การพัฒนาระบบการรักษา ได้มีการเชื่อมต่อช่องทางของระบบการรักษาจากเรือนจำสู่โรงพยาบาล  โดยริเริ่มทดลองนำระบบ  การรักษาผู้ป่วยผ่านโทรทัศน์ทางไกล (Telemedicine)  มาใช้ในการรักษาผู้ต้องขังในเรือนจำเพื่อเพิ่มช่องทางการรักษา
               

นพ.มานิต กล่าวต่อไปว่า ในปี พ.ศ.2553   กรมราชทัณฑ์ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนโลก   เพื่อเนินกิจกรรมป้องกันเอชไอวี (HIV) โรคเอดส์ในเรือนจำ 32  แห่ง   โดยกรมควบคุมโรคได้ร่วมพัฒนาระบบการดูแลรักษาเอดส์   และการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างเรือนจำ  และโรงพยาบาลควบคู่กันไป     เพื่อเปิดช่องทางให้ผู้ต้องขังเข้าถึงบริการที่สะดวกรวดเร็วขึ้น และลดภาระในการรักษา การดำเนินงานดังกล่าวเฉพาะโรคเอดส์เพียงโรคเดียว พบว่า สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายในด้านความเจ็บป่วย  และลดอันตรายภาวะแทรกซ้อนของโรคได้   ควรมีการขยายกิจกรรมในด้านการเฝ้าระวังป้องกัน  ควบคุมโรคและภัยสุขภาพในเรือนจำให้ครอบคลุม   เพื่อลดช่องว่างในระบบการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุม  และดูแลรักษาโรคและภัยสุขภาพในเรือนจำ  หากไม่ได้รับบริการเชิงรุก หรือช่องทางพิเศษจากโรงพยาบาล   ผู้ต้องขังจะไม่สามารถเข้าถึงบริการควบคุมโรคและการดูแลสุขภาพที่ทั่วถึง  อาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพผู้ต้องขัง  และเกิดปัญหาแพร่ระบาด อันเป็นอุปสรรคในการควบคุมและป้องกันโรคในเรือนจำอย่างมาก เพื่อแก้ไขช่องว่างนี้ และเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของระบบการเฝ้าระวังป้องกัน  ควบคุมโรคและภัยสุขภาพในเรือนจำ  มีข้อเสนอให้จัดทำขอตกลงความร่วมมือขึ้นระหว่างกรมควบคุมโรค และกรมราชทัณฑ์
 
      
นพ.สมศักดิ์  อรรฆศิลป์  รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า  ความสำคัญและความจำเป็นที่ต้องเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค การเกิดและแพร่กระจายโรคในเรือนจำ เนื่องจากกลุ่มผู้ต้องขังที่ป่วยเป็นโรคเมื่อมาอยู่ในเรือนจำ  สามารถแพร่กระจายโรคให้แก่ผู้ต้องขังอื่นได้   และในขณะเดียวกัน ผู้ต้องขังที่ป่วยในเรือนจำ   เมื่อพ้นโทษก็สามารถนำโรคไปแพร่ต่อให้กับประชาชนที่อยู่นอกเรือนจำได้  และเหตุส่งเสริมประการสำคัญ  ที่ก่อให้เกิดโรค  คือ การอยู่กันอย่างหนาแน่น   ซึ่งเป็นปัจจัยเอื้อต่อการแพร่กระจายโรคได้เป็นอย่างดี    พิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือนับเป็นความก้าวหน้า   เป็นผลสำเร็จของความพยายามร่วมกันขององค์กรภาคีที่จะร่วมกันดำเนินงานเพื่อลดผลกระทบของโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของเรือนจำ  กรมควบคุมโรค  กระทรวงสาธารณสุข  และกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม  ในเรื่องการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค และภัยสุขภาพในเรือนจำ  1.เพื่อพัฒนานโยบายการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพในเรือนจำ   2.  เพื่อพัฒนาแนวทางการดำเนินงานเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพในเรือนจำ   3.  ส่งเสริมบริการการเฝ้าระวังป้องกัน  ควบคุมโรคและภัยสุขภาพในเรือนจำ   4.  ประสานความร่วมมือและสนับสนุนกระบวนการดำเนินงานเฝ้าระวังป้องกัน  ควบคุมโรคและภัยสุขภาพในเรือนจำ
กำลังโหลดความคิดเห็น