xs
xsm
sm
md
lg

โละ! ครูพันธุ์ใหม่ แบ่งเป็นครูใน-นอกระบบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
โละอีก!! ถึงคราวโครงการครูพันธุ์ใหม่ ที่ทำมาแต่รัฐบาลชุดเก่า “วรวัจน์” ระบุแบ่งครูเป็นในระบบและนอกระบบ เน้นดึงครูเชี่ยวชาญ พร้อมเปิดช่องครูขอย้ายกลับ
                 

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย เข้าพบว่า ได้มีการพูดคุยถึงระบบการพัฒนาหลักสูตรที่จะรองรับยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับหลักสูตรและนำเสนอรูปแบบของการแก้ไขปัญหา ซึ่งทางคณบดีคณะครุศาสตร์ ตอบรับและพร้อมที่จะดำเนินการ สำหรับนโยบายในการผลิตครูของประเทศนั้น ครูจะมีใน 2 ระบบ คือ 1.ครูในระบบเดิมที่มีอยู่จะนำครูเหล่านี้มาอบรมเพื่อให้ได้รับการพัฒนาเพิ่มเติมตามหลักสูตรใหม่ที่มีการปรับ 2.ครูที่มาจากผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบการ รวมทั้งภาคเอกชนซึ่งมีความชำนาญในวิชาชีพด้านต่างๆเข้ามาช่วยสอนให้มากขึ้น
               

“ก่อนจะรับครูจากนอกระบบเข้ามาช่วยสอนในสถาบันการศึกษาต่างๆ จะเปิดทางให้ครูที่สอนอยู่ในจังหวัดต่างๆ ได้มีโอกาสที่จะทำเรื่องขอย้ายกลับภูมิลำเนาเพื่อกลับไปพัฒนาจังหวัดบ้านเกิดของตัวเอง โดยได้มอบหมายให้ นายอภิชาติ จีระวุฒิ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) ไปดำเนินการในเรื่องนี้ ทั้งนี้จะพยายามจัดที่ลงให้ดีที่สุด ซึ่งจะเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของครู ทำให้ครอบครัวอบอุ่น และจะทำครูได้ใช้ศักยภาพในการพัฒนาบ้านเกิดของตัวเอง”รมว.ศธ. กล่าวและว่า สำหรับโครงการผลิตครูหลักสูตร 5 ปี หรือครูพันธุ์ใหม่นั้น คงจะไม่ดำเนินการต่อ เพราะต่อไปเมื่อเราปรับระบบใหม่เราจะมีครูผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่เข้ามาแทนโดยเน้นการสอนที่ทำให้เด็กมีงานทำ
               

ด้าน รศ.ดร.สมบัติ นพรัก ประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้นำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาและคุณภาพสถาบันผลิตครู อาทิ ควรมีการกำหนดระดับวุฒิการศึกษาของครูผู้สอน โดยระดับปฐมวัยและประถมศึกษา ใช้ครูปริญญาตรี ม.ต้น และม.ปลาย ใช้ครูวุฒิปริญญาโท ปรับหลักสูตรปริญญาตรี 5 ปีเป็น 4 ปี สร้างหลักสูตรครูปริญญาตรีควบโท 6 ปี ควรมีการกำหนดกรอบมาตรฐานคุณวุฒิแห่งชาติทุกระดับการศึกษา ควรมีการทบทวนกรอบมาตรฐานคุณวุฒิอุดมศึกษา และกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรีสาขาคุรุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์
กำลังโหลดความคิดเห็น