“หมอศิริวัฒน์” รองปลัด สธ.ใจบุญ ระดมทุนผ่านเฟซบุ๊กช่วยเหลือ รพ.อุ้มผาง หลังพบมีปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง เชื่อเป็น รพ.ที่ดำรงอยู่เพื่อประชาชนอย่างเสียสละ รักษาไม่แบ่งแยก มีคนกลุ่มน้อยถึง 4.6 หมื่นคน
วานนี้ (18 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พบความเคลื่อนไหวในเครือข่ายสังคมออนไลน์ มีการตั้งกองทุนเพื่อขอรับเงินบริจาค โรงพยาบาล (รพ.) อุ้มผาง จ.ตาก เพื่อช่วยให้พ้นวิกฤตจากปัญหาขาดทุน โดยเปิดประชาสัมพันธ์ข้อมูลผ่านเว็บไซต์เฟซบุ๊ก (Facebook) ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถบริจาคผ่านบัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขากระทรวงสาธารณสุข ติวานนท์ ชื่อบัญชี “นายศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล เพื่อโรงพยาบาลอุ้มผาง” หมายเลขบัญชี 142-0-12405-6 พร้อมทั้งแนบลิงก์ปัญหา รพ.อุ้มผาง http://dlfp.in.th/paper/317 อีกด้วย
โดยผู้สื่อข่าวได้ติดต่อสอบถามไปยังเจ้าของชื่อบัญชี คือ นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ถึงความเป็นมาของกองทุนดังกล่าว ซึ่งได้รับคำตอบว่า การตั้งกองทุนดังกล่าวไม่ใช่เพื่อช่วยปลดหนี้ทั้งหมดให้โรงพยาบาล แต่เพียงแค่เป็นการช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น เช่น ในเรื่องของสวัสดิการเจ้าหน้าที่เท่านั้น หรือการให้เงินผู้ป่วยเป็นค่ารถไปกลับ
นพ.ศิริวัฒน์กล่าวด้วยว่า การช่วยเหลือครั้งนี้ เนื่องจากตนมองว่า นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการ รพ.อุ้มผาง เป็นคนเสียสละ มีอุดมการณ์ในการทำงาน แม้จะประสบปัญหามากมายแค่ไหนก็ยังยืนหยัดช่วยผู้ป่วย ไม่ทำเรื่องขอย้ายไปที่อื่น ทำงานมาหลายสิบปี จึงมีแนวคิดในการตั้งกองทุนขึ้นเพื่อช่วยเหลือไม่มากก็น้อย แต่ไม่ใช่ประเด็นปลดหนี้
ด้าน นพ.วรวิทย์ กล่าวว่า กองทุนดังกล่าวมาจากแนวคิดของ นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งจะเกษียณในวันที่ 30 ก.ย. 2554 และจะจัดเลี้ยงเกษียณในวันที่ 9 ก.ย.ที่โรงแรมริชมอนด์ โดยจะใช้โอกาสดังกล่าวจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือ รพ.อุ้มผาง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ประสบปัญหาติดลบทางการเงิน แม้ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะจัดสรรงบประมาณให้ แต่ไม่เพียงพอกับความเป็นจริง จึงต้องพยายามช่วยเหลือตัวเองมาตลอด ส่วนการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวขึ้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อปลดหนี้ แต่จะนำเงินที่ได้จากกองทุนนี้มาช่วยในเรื่องของค่าใช้จ่ายภายใน หรือสวัสดิการอื่นๆ ของเจ้าหน้าที่ที่ทุ่มเททำงาน รวมไปถึงค่าใช้จ่ายขอผู้ป่วยบางกรณี ซึ่งถือเป็นน้ำใจของผู้ประสงค์ดีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพราะต้องเข้าใจก่อนว่า การจะแก้ปัญหาหนี้สินของโรงพยาบาล แค่การตั้งกองทุนคงช่วยไม่ได้ แต่เป็นหน้าที่ในภาพรวมที่ภาครัฐต้องดำเนินการ ตรงนี้เป็นเพียงการช่วยเหลือตัวเองไปก่อนเท่านั้น
ผอ.รพ.อุ้มผางกล่าวด้วยว่า หลังจากที่เข้ามาทำหน้าที่ในโรงพยาบาลกว่า 20 ปี พบว่าโรงพยาบาลมีปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สาเหตุมาจากการรักษาพยาบาลคนจำนวนมาก โดยเฉพาะชนกลุ่มน้อย ซึ่งปัจจุบันเข้ารับการรักษาสูงถึง 46,000 คน โดยชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ตามชายแดน เมื่อคนกลุ่มนี้เจ็บป่วยก็หันมาพึ่งหมอ พึ่งโรงพยาบาล แม้ไม่มีเงินก็ต้องรักษา ไม่สามารถปล่อยตามยถากรรม แต่ปัญหาคือ เงินที่ได้รับการจัดสรรเพื่อซื้อยา ซื้อเครื่องไม้เครื่องมือ หรือค่าจ้างพยาบาลไม่เพียงพอ ทำให้โรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายที่เก็บเงินไม่ได้ ส่งผลให้ขาดทุนถึง 27-28 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ สปสช.ให้เฉพาะค่าเหมาจ่ายรายหัวตามประชากรผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งมีอยู่เพียง 26,000 คน ส่วนสิทธิข้าราชการ ประกันสังคมน้อยมากเพียง 2,000 คน ทำให้ต้องยืมยาจาก รพ.แม่สอด อีกทั้งในโรงพยาบาลก็ประหยัดทุกวิถีทาง ทั้งผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงใช้เอง แต่งรถของชาวบ้านเป็นรถเคลื่อนย้ายผู้ป่วย สิ่งเหล่านี้ทำมาตลอด ไม่ใช่แค่ รพ.อุ้มผาง แต่ รพ.แม่สอด ใน จ.ตากก็ประสบปัญหาเช่นกัน