xs
xsm
sm
md
lg

ห่วงอีก 10 ปีแนวโน้มสิงห์อมควันหน้าใหม่เพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพฯ รวมพลังลดนักสูบหน้าใหม่ ห่วงอีก 10 ปีแนวโน้มสิงห์อมควันหน้าใหม่เพิ่ม เหตุกลยุทธ์การตลาดมุ่งเยาวชน หนุนเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพฯ เป็นต้นแบบปลอดบุหรี่ หวังกระตุ้นลดปัญหาสุขภาพคนไทย พร้อมมอบรางวัลโรงพยาบาลปลอดบุหรี่ 21 แห่งทั่วประเทศ
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (18 มี.ค.) ที่อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมวิชาการเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ครั้งที่ 1 “บุหรี่กับสุขภาพ : รวมพลัง สร้างจุดเปลี่ยน” ว่า ขณะนี้ภาพรวมการควบคุมยาสูบดีขึ้นตามลำดับ แต่การทำงานเชิงรุกควบคุมปัญหาจากยาสูบไม่สามารถหยุดนิ่งได้ โดยเฉพาะแนวโน้มในอีก 10 ปีข้างหน้า ยิ่งน่าเป็นห่วง กลุ่มอุตสาหกรรมยาสูบ ใช้กลยุทธ์การตลาดเจาะกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง ทำการตลาดผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ อาจส่งผลให้กลุ่มเยาวชน วัยรุ่น และกลุ่มผู้หญิง กลายเป็นเหยื่อนักสูบหน้าใหม่มากขึ้น

“จากสถิติอัตราผู้สูบหน้าใหม่ อายุ 15-24 ปี เพิ่มขึ้นจาก 1.6 ล้านคน ในปี 2550 เป็น 1.67 ล้านคน ในปี 2552 นับเป็นสัญญาณเตือนว่า จำเป็นต้องมีกลไกการควบคุมรูปแบบใหม่ช่วยลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ ซึ่งเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ เป็นกลุ่มสำคัญช่วยรณรงค์และลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ลงได้ มีบุคลากรทางการแพทย์ครอบคลุม 19 สาขา มีสมาชิกราว 10,000 คน มีโอกาสพบผู้ป่วยจำนวนมาก ช่วยรณรงค์ให้ผู้ป่วยเลิกสูบบุหรี่ได้ และขยายผลด้วยการพัฒนาเป็นโรงพยาบาลปลอดบุหรี่ได้มากขึ้น ” ทพ.กฤษดากล่าว

ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพฯ สนับสนุนและผลักดันให้โรงพยาบาลทุกแห่ง เป็นโรงพยาบาลปลอดบุหรี่ โดยมอบรางวัลโรงพยาบาลปลอดบุหรี่ให้แก่โรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ เป็นกลยุทธ์กระตุ้นให้ผู้บริหารโรงพยาบาล และเจ้าหน้าที่เห็นความสำคัญปัญหาบุหรี่ และพัฒนาให้เป็นสถานพยาบาลปลอดควันบุหรี่ ซึ่งปัจจุบันมีโรงพยาบาลได้รับรางวัลโรงพยาบาลปลอดบุหรี่แล้ว 76 แห่ง และในปี 2553 เป็นปีแรกที่ได้กำหนดเกณฑ์การพิจารณา แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับเพชร ระดับทอง และระดับเงิน โดยรางวัลระดับเพชรเป็นรางวัลสูงสุด คือ ต้องมีคลินิกเลิกบุหรี่แบบเต็มเวลา มีโครงการวิจัยเกี่ยวกับยาสูบ และเปิดโอกาสให้หน่วยงานอื่นๆ เข้ามาศึกษาดูงานเกี่ยวกับยาสูบ และในการรักษาผู้ติดบุหรี่ จะต้องมียาช่วยเลิกบุหรี่มาตรฐานอย่างน้อย 3 ชนิดไว้บริการผู้ป่วย

ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี กล่าวว่า สำหรับโรงพยาบาลที่ได้รับรางวัลโรงพยาบาลปลอดบุหรี่ ประจำปี 2553 มีทั้งสิ้น 21 แห่ง ดังนี้ 1.โรงพยาบาลต้นแบบที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม 3 แห่ง ได้แก่ รพ.ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, รพ.ตำรวจ และรพ.พระมงกุฎเกล้า 2.โรงพยาบาลศูนย์ ที่ได้รับรางวัล ได้แก่ รพ.พุทธชินราช ได้ระดับเพชร, รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์, รพ.หาดใหญ่ ได้ระดับทอง และรพ.สรรพสิทธิประสงค์, รพ.สุราษฎ์ธานี, รพ.ราชบุรี ได้ระดับเงิน 3.โรงพยาบาลทั่วไป ได้รับรางวัล ได้แก่ รพ.แม่สอด ได้ระดับเพชร, รพ.นครพิงค์, รพ.สิงห์บุรี ได้รางวัลระดับทอง และรพ.สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช, รพ.ปัตตานี, รพ.หนองคาย ได้ระดับเงิน และ4.โรงพยาบาลชุมชน ได้รับรางวัล ได้แก่ รพ.สิชล ได้ระดับเพชร, รพ.สำโรงทาบ, รพ.ทุ่งฝน ได้ระดับเงิน, ศูนย์บริการสาธารณสุข 3 บางซื่อ, รพ.สันป่าตอง และรพ.ปะทิว ได้ระดับเงิน
กำลังโหลดความคิดเห็น