รองอธิบดีกรมศิลป์ เผย เดินทางไปรับมอบวัตถุโบราณที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จ.ชุมพร หลังมีคนดูดทราย พบกลองมโหระทึก อายุราว 2,500 ปี
นายเอนก สีหามาตย์ รองอธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า ได้เดินทางไปรับมอบกลองมโหระทึกที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร หลังจากที่นักโบราณคดีแจ้งว่า ชาวบ้านชื่อ นายเอกวุฒิ อาศัยผล บ้านเลขที่ 44/2 หมู่ที่ 3 ตำบลบางลึก อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร มีอาชีพรับจ้างดูดทรายได้พบกลองนี้จำนวน 1 ใบ ในบริเวณคลองอู่ตะเภาแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว ตำบลนาชะอัง เขตอำเภอเมือง แล้วนำมามอบให้พิพิธภัณฑ์เก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ และจากการตรวจสอบของลักษณะกลองใบนี้ นักโบราณคดี ระบุว่า ทำด้วยสำริดอยู่ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ยุคเหล็กอายุราว 2,500-2,000 ปีมาแล้ว เปรียบเทียบได้กับกลองมโหระทึกสำริดแบบเฮเกอร์ 1 (Heger 1) ในวัฒนธรรมดองซอนที่พบในเวียดนาม นับเป็นรูปแบบกลองที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดใบหนึ่งที่พบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยตรงกลางหน้ากลอง มีลายดาว หรือดวงอาทิตย์ 14 แฉก ที่สำคัญ มีลายหางนกยูงคั่นปรากฏอยู่ที่ยังไม่เคยพบเห็นในกลองประเภทนี้ ประเทศไทย และยังมีลายนกมีหางคู่ยาวกำลังเอี้ยวไซร้ปีกหรือขน บินทวนเข็มนาฬิกาจำนวน 6 ตัว แถวลายจุดถัดมาเป็นแถวลายวงกลมม้วนคล้ายก้นหอย 12 อัน และลายนกกระสาคู่มีหงอนและไม่มีหงอน บินทวนเข็มนาฬิกาจำนวน 8 คู่ รวม 16 ตัว ตัวกลองมีหูสี่ด้านแต่ละอันลายคล้ายเกลียวเชือก สภาพตัวกลองมีร่องรอยของการใช้ทอยอยู่โดยรอบ แสดงถึงกรรมวิธีการหล่อแทนที่โลหะด้วยขี้ผึ้ง (Lost wax or Cire Perdue) พิมพ์ประกบสองชั้น บริเวณหน้ากลองบางส่วนมีคราบสนิมสีน้ำตาลแดงจับ ฐานล่างส่วนหนึ่งชำรุดแตกบิ่นหายไป