แพทย์มะเร็งวิทยาสมาคมแนะ ผู้ป่วยมะเร็ง ต้องกินอาหารคบ 5 หมู่ เหตุร่างกายอ่อนแอจากการรักษา พร้อมเตือนคนปกติ กินไม่เลือก ระวังโรคร้ายคุกคาม ชี้พฤติกรรมการกินอาหารไม่เหมาะสม เป็น 1 ใน 3 สาเหตุของการเกิดมะเร็งทั้งหมด
วันนี้ (11 ส.ค. ) ผศ.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ อุปนายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย และหัวหน้าหน่วยงานมะเร็งวิทยาภาควิชา อายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาส่วนหนึ่งที่พบในผู้ป่วยมะเร็งส่วนมาก ที่ผ่านการรักษาด้วยรังสี การฉายแสง การทำเคมีบำบัด และการทานยาหลายอย่างรวมกัน จนเกิดผลข้างเคียง คือ อาจอ่อนเพลีย อาเจียน หมดแรง ทำให้บางครั้งเบื่ออาหาร ประกอบกับมีความเชื่อว่า ควรงดอาหารบางประเภท เช่น โปรตีนจากนม จากเนื้อปลา หรือบางรายกังวลว่าการรับประทานผัก ผลไม้สดสดจะก่อให้เชื้อมะเร็งลุกลามได้เร็ว ดังนั้นจึงมักเลือกรับประทานอาหารเฉพาะอย่างตามความเชื่อ เช่น ดื่มนมอย่างเดียว หรือน้ำสมุนไพร ในปริมาณมาก และทานอาหารพวกวิตามินมากเกินไป จนร่างกายซูบผอมอยู่ในภาวะที่โภชนาการแย่ ส่งผลให้แพทย์ไม่สามารถรักษาตามแผนที่วางไว้ได้ เนื่องจากร่างกายอ่อนแอ เช่น จากแผนปกติจะใช้เวลารักษาด้วยการทำเคมีบำบัด 2-3 สัปดาห์ต่อครั้งซึ่งยาที่ใช้อาจมีประสิทธิภาพพุ่งถึง 80 % แต่เมื่อผู้ป่วยอยู่ในภาวะขาดสารอาหาร จำเป็นต้องรอเวลาหรือเลื่อนไปเป็น 4-5 สัปดาห์ต่อครั้ง เพื่อให้ผู้ป่วยมีความพร้อม ซึ่งประสิทธิภาพก็จะลดลงไปด้วย โดยในระหว่างนี้ต้องกำชับให้ทานอาหารคบ 5 หมู่ หรือถ้าในกรณีเบื่ออาหารมากก็ใช้วิธีการทานอาหารระหว่างมื้อ เช่น น้ำเต้าหู้กับธัญพืช
ผศ.นพ.วิโรจน์กล่าวด้วยว่า ในกรณีการสั่งงดอาหารบางประเภท นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น สภาพอาการของตัวผู้ป่วยว่าเป็นมะเร็งชนิดใด อายุเท่าใด ร่างกายขาดอะไร ซึ่งต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ แต่หลักๆ นั้นร่างกายทุกคนยังจำเป็นต้องใช้สารอาหารให้ครบ 5 หมู่ ตัวอย่างเช่น ในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดหรือลูคิวเมีย มะเร็งชนิดดังกล่าวระดับเม็ดเลือดขาวจะต่ำมาก ภูมิต้านทานก็จะด้อย จำเป็นต้องทานผักหรือผลไม้ปรุงสุก เนื่องจากผักผลไม้สด อาจปนเปื้อนปุ๋ยคอก ที่มีแบคทีเรียอยู่ด้วย ขณะที่ผู้ป่วยสูงวัยอายุมากกว่า 40 ปีก็จำเป็นต้องเน้นอาหารกลุ่มแคลเซียมให้มากกว่าเดิม ส่วน วิตามีนซีนั้นทานในปริมาณปกติ อาจรับได้จากผลไม้รสหวานเปรี้ยว ซึ่งไม่จำเป็นต้องทานชนิดเม็ด ในปริมาณมาก เพราะแต่ละวันร่างกายขับวิตามินซีออกมาอยู่แล้ว
ด้าน นพ.กสานติ์ สีตลารมณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แผนกมะเร็งวิทยา กองอายุรกรรม รพ.พระมงกุฎเกล้า และกรรมการมะเร็งวิทยสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อาหารอาจไม่ใช่สาเหตุหลักที่ก่อมะเร็ง แต่ถือได้เป็นสาเหตุ 1 ใน 3 ที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้หลายอย่าง รองจากการติดเชื้ออื่นๆ และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควบกับสูบบุหรี่ หลักๆ ได้แก่ มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็ง เต้านม ซึ่งเหล่านี้เกิดจากการกินอาหารที่มีไขมันสูง ซึ่งมีอยู่ในเนื้อสัตว์ เช่น หมูสามชั้น รวมทั้งอาหารทอดที่ใช้น้ำมันซ้ำๆ หลายครั้งด้วย ขณะที่มะเร็งตับอาจเกิดจากการกินอาหารที่ปรุงไม่สุก ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงมะเร็งควรที่จะหลีกเลี่ยงอาหารกลุ่มเสี่ยงก็จะเป็นผลดี ได้แก่ กลุ่ม อาหาร หมักดองเค็มและเนื้อสัตว์เค็มตากแห้ง ที่ใส่ดินประสิว (โปแตสเซียมไนเตรท) สารไนไตรท์ สามารถเปลี่ยนเป็นสารไนโตรซามีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในร่างกายได้ จึงควรกินอาหารเหล่านี้ให้น้อยลง กลุ่มอาหารที่มีเชื้อราขึ้น อาจมีสารพิษ อะฟลาท๊อกซิน (Aflatoxin X ทำให้เกิดโรคมะเร็งตับ เช่น ถั่ว พริกป่น หรืออาหารที่ผสมสีย้อมผ้า เป็นต้น
“เมื่อร่างกายได้รับสารดังกล่าวจะสะสมนานๆ หลายสิบปีจึงปรากฏอาการป่วย ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้เกิดขึ้นทุกราย แต่การหลีกเลี่ยง หรือรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ ย่อมเป็นผลดีต่อสุขภาพ อย่างน้อยก็ลดปัจจัยเสี่ยงได้ส่วนหนึ่ง และที่สำคัญต้องออกกำลังกายให้มาก พยายามงดเหล้า งดบุหรี่ ซึ่งเป็นอีกสาเหตุที่ก่อมะเร็งได้เช่นกัน” นพ.กสานติ์ กล่าว