xs
xsm
sm
md
lg

ผู้แทนสหประชาชาติ ห่วงต่างด้าวกลุ่มประมง พบตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์มากขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต
ผู้แทนสหประชาชาติ ห่วงต่างด้าวกลุ่มประมง พบมีการตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์มากขึ้น ก.แรงงาน มั่นใจ  ผู้เสนอรายงานพิเศษฯ เข้าใจข้อมูลการค้ามนุษย์ในไทยมากขึ้น ชี้ การจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวทำให้ค่าจ้าง-สวัสดิการเท่าคนไทย

วันนี้ (10 ส.ค.) นายจีรศักดิ์  สุคนธชาติ  รองปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) กล่าวภายหลังนำผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงานให้การต้อนรับ นางจอย โงซี เอสซีโล (Mrs.Joy Ngozi Ezeilo)  ผู้เสนอรายงานพิเศษว่าด้วยการค้ามนุษย์โดยเฉพาะสตรีและเด็ก ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ว่า การพบกันในครั้งนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายได้ทำความเข้าใจ แลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงแนวปฏิบัติในการต่อต้านการค้ามนุษย์ในประเทศไทย  เช่น  กระบวนการลักลอบขนแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทย ซึ่งผู้เสนอรายงานพิเศษฯได้ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการค้ามนุษย์หรือไม่ โดยกระทรวงแรงงานได้ทำความเข้าใจ และยืนยันว่า ประเทศไทยไม่ได้สนับสนุนการลักลอบเข้ามาทำงาน แต่ยอมรับว่าตัวแรงงานพยายามเข้ามาหางานในประเทศไทยเพื่อมีรายได้ที่ดีกว่า การอยู่ในประเทศ  ทำให้อาจมีการลักลอบขนแรงงานต่างด้าวเข้ามาในไทย และทำให้แรงงานเสียชีวิต  

         

“กระทรวงแรงงาน ได้ยืนยันกับผู้เสนอรายงานพิเศษไป ว่า ไทยได้แก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามาในไทยโดยผิดกฎหมายด้วยการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวเพื่อให้แรงงานต่างด้าวที่มาจดทะเบียนได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ทั้งค่าจ้าง และการดูแลสุขภาพที่เท่าเทียมกับแรงงานไทย  ซึ่งแรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้ไม่ได้เป็นการค้ามนุษย์ เพราะหากค้ามนุษย์นายจ้างคงไม่นำมาจดทะเบียน     จะต้องถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวไว้    ขณะเดียวกัน ก็มีการปราบปรามจับกุมต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามาไทยผ่านตามแนวชายแดนโดยผิดกฎหมาย  เมื่อจับได้ก็ส่งกลับประเทศโดยมีมาตรการดูแลไม่ให้มีการกดขี่   ล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนแรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้” นายจีรศักดิ์ กล่าว

    
รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า  นอกจากนี้ ผู้เสนอรายงานพิเศษฯยังแสดงความเป็นห่วงในหลายเรื่อง เช่น การจัดเก็บค่าบริการในการเปิดขึ้นทะเบียน การตรวจสอบการทำงานของแรงงานต่างด้าวในสถานประกอบการ  การดูแลชุมชนแรงงานต่างด้าว รวมถึงต่างด้าวในกลุ่มประมง  ซึ่งพบว่า มีการตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์มากขึ้น ซึ่งตัวแทนของกระทรวงแรงงาน ได้ชี้แจงทำความเข้าใจถึงมาตรการที่เกี่ยวข้อง  และเชื่อว่า การเข้าพบเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานในครั้งนี้ ผู้เสนอรายงานพิเศษฯ  จะมีความเข้าใจกระทรวงแรงงานมากขึ้น  และน่าจะนำเสนอรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศไทยดีขึ้นจากที่ไทยถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่ต้องเฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ระดับ 2 เนื่องจากเป็นประเทศทางผ่านและลักลอบกดขี่แรงงานถึง 2 ปีติดต่อกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น