สปส.-สปสช.เห็นพ้องยื่นกฤษฎีกาตีความ โอนผู้ประกันตน 9 ล้านคนใช้บัตรทอง สปส.ต้องจ่ายเงิน 2.3 หมี่นล้านบาทหรือไม่
วันนี้ (5 ส.ค.) ได้มีการประชุมร่วมตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยการขยายบริการสาธารณสุขไปยังผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ระหว่างผู้แทนสำนักงานประกันสังคม (สปส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
นพ.วิชัย โชควิวัฒน กรรมการ สปสช.กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติยื่นเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความใน 2 ประเด็น คือ 1.กรณีที่มีการโอนผู้ประกันตนมาอยู่ในการดูแลของ สปสช. ทางสปส.ต้องจ่ายเงินค่าจัดบริการทางการแพทย์ให้ สปสช.เป็นจำนวน 2.3 หมื่นล้านบาท เป็นเวลา 3 ปีหรือไม่ ถ้าหากจ่ายจะต้องจ่ายเต็มจำนวน ซึ่งประกอบด้วย ส่วนที่ลูกจ้าง นายจ้างและรัฐจ่ายสมทบ หรือจ่ายเฉพาะส่วนที่รัฐร่วมสมทบเท่านั้น และหาก สปส.ไม่ต้องจ่าย รัฐต้องเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดหรือไม่
2.กรณีของแรงงานต่างด้าวที่ได้ใบอนุญาติทำงานในไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายกว่า 1 แสนคน จะมีแนวปฏิบัติอย่างไร เนื่องจากแรงงานต่างด้าวจะได้สิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลตามกฎหมายประกันสังคม แต่สปสช.จำกัดสิทธิการบริการเฉพาะคนไทยเท่านั้น
“ประเด็นเหล่านี้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายของทั้ง 2 ฝ่ายเขียนคำถามร่วมกัน โดยสปสช.เป็นฝ่ายยื่นเรื่อง โดยระหว่างที่ยังรอคำตอบจากกฤษฎีกา ทั้ง 2 หน่วยงานจะประชุมร่วมกันเดือนเว้นเดือน ซึ่งการประชุมครั้งต่อไปคือวันที่ 5 ต.ค.” นพ.วิชัย กล่าว
ทั้งนี้ การยื่นเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความเนื่องจากทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถตกลงเรืื่องเงินกันได้ โดยสปสช.ยื่นข้อเสนอว่าจะรับบริการแก่ผู้ประกันตนกว่า 9 ล้านคน โดยให้ สปส. จ่ายเงินในอัตราเทียบเท่าค่าเหมาจ่ายรายหัวที่สปส.กำหนดในปัจจุบัน รวมปีละ 2.3 หมื่นล้านบาท ติดต่อกัน 3 ปี
อย่างไรก็ตาม สปส.เห็นแย้งว่า เมื่อ สปสช.ให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย จึงไม่ควรต้องเก็บเงินจากผู้ประกันตนด้วย เพราะจะเกิดความไม่เท่าเทียมและเลือกปฏิบัติระหว่างประชาชนสองกลุ่ม
ล่าสุด ช่วงเช้าวันเดียวกัน (5 ส.ค.) ตัวแทนสภาองค์การนายจ้าง นำโดยนายประสิทธิ์ จงอัศญากุล ประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ค้าและบริการเครื่องอุปโภคบริโภค ได้ยื่นเรืื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อร้องเรียนว่า สปสช.เลือกปฏิบัติ เนื่องจากเก็บค่าจัดบริการทางการแพทย์จาก สปส. 2.3 หมื่นล้านบาท แต่กลับให้บริการแก่ผู้ประกันตนมาตรา 40 หรือกลุ่มแรงงานนอกระบบโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย