xs
xsm
sm
md
lg

เสนอให้ ร.ร.คัดเด็กเดือดร้อนได้สิทธิ์ กยศ.เอง-ชงกำหนดสัดส่วนผู้กู้อาชีวะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“อภิชาติ” ชง  “ชินวรณ์” เห็นชอบปรับเกณฑ์ กยศ.เพิ่มช่องทางพิเศษให้ ร.ร.มีสิทธิ์คัดเด็กที่เดือดร้อนได้เอง และกำหนดสัดส่วนผู้กู้อาชีวะแยกจากพื้นฐาน ก่อนเสนอ ก.คลัง

                นายอภิชาติ จีระวุฒิ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า ศธ.เป็นผู้รับผิดชอบกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แต่ความจริง แล้วกองทุน กยศ.อยู่ในการดูแลของกระทรวงการคลัง เราเป็นเพียงส่วนหนึ่งเพราะมีนักเรียน นักศึกษาเป็นผู้ใช้บริการ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าการปล่อยกู้โดยทุ่มเงินให้ทุนการศึกษาไปมาก ๆ อาจจะไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่การบริหารเม็ดเงินให้ได้ประโยชน์สูงสุดนั้น คือ หนทางการแก้ปัญหาที่แท้ จริงและถูกทาง ปัจจุบันเด็กจากครอบครัวที่ยากจนจริงๆ หรือมีปัญหากลับไม่ได้กู้ แต่คนที่พอมีฐานะช่วยเหลือตัวเองได้กลับสามารถกู้ได้

           ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การของกู้ยืมนั้นจะดูรายได้ครอบครัวต่อปี เช่น ลูกเกษตรกรบางคน ความจริงมีฐานะแต่เมื่อนำรายได้ต่อปีไปเสนอก็จะเสนอเฉพาะต้นทุน หรือบางคนก็เขียนให้น้อยกว่าจำนวนที่ได้รับจริง ขณะที่ลูกข้าราชการบางคน แต่มีลูกมาก หากดูรายได้ต่อปีอาจจะดูมีรายได้สูงแต่หากหักค่าใช้จริง ๆ แล้วจะยังไม่เพียงพอต่อการดูแลบุตรเมื่อลูกไปขอยื่นกู้ยืมก็ต้องใช้ยอดราย ได้เดียวกันซึ่งอาจจะดูว่าไม่มีความจำเป็นต้องกู้จึงไม่ได้รับการพิจารณาให้ กู้ เป็นต้น เท่ากับว่าหลักเกณฑ์การกู้ยืมไม่ได้ดูปัญหาที่แท้จริง

             นายอภิชาติ กล่าวต่อว่า ตนจะเสนอนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ว่า ควรปรับหลักเกณฑ์การกู้ยืม กยศ. ในประเด็นสำคัญ คือ การเพิ่มช่องทางพิเศษ ให้สถานศึกษาสามารถพิจารณาผู้มีสิทธิ์กู้ยืมได้เอง เช่น กรณีพ่อแม่ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตกระทันหัน หรือมีฐานะยากจนจริง ๆ นอกจากนั้น สำหรับนักเรียนที่นับถือศาสนาอิสลาม บางคำที่กำหนดในหลักเกณฑ์ทำให้นักเรียนไม่สามารถกู้ยืม กยศ.ได้เพราะขัดหลักศาสนา เช่น คำว่า “กู้” หรือ “ดอกเบี้ย” ดังนั้นควรจะคิด หรือกำหนดศัพท์ใหม่เพื่อให้นักเรียนอิสลามมีโอกาสกู้ กยศ.ได้ ขณะที่ในส่วนของผู้เรียนในสายอาชีวศึกษา ที่ ศธ.มีนโยบายจะเพิ่มจำนวนผู้เรียนในสายวิชาชีพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นควรจะกำหนดสัดส่วนแยกจากผู้เรียนสายสามัญ และหากใครเรียนตามสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศก็ให้สิทธิ์กู้เป็นกรณีพิเศษ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จะต้องเข้าหารือกับกระทรวงการคลัง อีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น