ปลัด สธ.สั่ง สำนักระบาดเฝ้าระวัง “ไวรัสฮานตา” เผยในอดีต ไทยเคยพบผู้ป่วย 1 ราย ไม่เสียชีวิตแนะการป้องกันโรค ต้องกำจัดหนู ทั้งหนูนา หนูบ้าน หนูพุก ที่เป็นตัวการก่อโรค ให้ตาย อย่าใช้วิธีไล่หนู นอกจากไม่ได้ผลแล้วจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคฉี่หนูและฮานตา พร้อมดูแลบ้านเรือนให้สะอาด
จากกรณีที่มีข่าวพบผู้เสียชีวิตจากโรคฮานตาไวรัสรายแรกในทวีปอเมริกาใต้ เป็นหญิงวัย 29 ปี เสียชีวิตหลังเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล 18 วัน โดยโรคฮานตาไวรัสมีหนูเป็นพาหะนำโรค เป็นโรคร้ายแรง อาการเริ่มแรกผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัดและเชื้อจะลุกลามไปที่ปอดและ ทำลายระบบทางเดินหายใจทำให้เสียชีวิตในเวลารวดเร็ว
ล่าสุด วันนี้ (25 ก.ค.) นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า เชื้อฮานตาไวรัส (Hantavirus)เป็น เชื้อที่เกิดจากสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู แพร่มาสู่คนโดยการสัมผัสโดยตรงกับปัสสาวะ อุจจาระ หรือน้ำลายของสัตว์ที่มีเชื้อ หรืออาจติดจากการสูดละอองสิ่งขับถ่ายดังกล่าวเข้าไป ทำให้เกิดอาการป่วย โรคนี้มีระยะฟักตัวประมาณ 2-4 สัปดาห์ หรืออาจเร็วภายใน 2-3 วัน หรือนานถึง 2 เดือนก็ได้ จะส่งผลให้เกิดอาการ 2 แบบ คือ 1.ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออกที่มีอาการทางไต(Hemorrhagic Fever with Renal Syndrome : HFRS) มีอัตราป่วยตายประมาณร้อยละ 5 อาการจะมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ปวดเอว ปัสสาวะน้อย ปัสสาวะมาก มีเลือดออกที่อวัยวะต่างๆ
“กลุ่มอาการที่ 2 มีอาการทางระบบหัวใจและทางเดินหายใจ(Hantavirus Cardio Pulmonary Syndrome : HCPS) เป็นอาการที่รุนแรงที่สุด อัตราตายเฉลี่ยร้อยละ 40-50 อาการ จะเริ่มจากมีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน หายใจลำบากอย่างเฉียบพลัน อาการจะทรุดลงอย่างรวดเร็ว ช็อคและหัวใจวาย เสียชีวิตในที่สุด” นพ.ไพจิตร์กล่าว
ปลัด สธ.กล่าวต่อว่า จากการเฝ้าระวังโรค ในประเทศไทยพบผู้ป่วยประปรายน้อยมาก ไม่จัดอยู่ในขั้นระบาด ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต เคยมีรายงานผู้ป่วยในปี 2528 ที่จังหวัดกาญจนบุรีและกรุงเทพมหานคร และในปี 2541 พบอีก 1 ราย ในกรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตามได้สั่งการให้สำนักระบาดวิทยา เฝ้าระวังผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งในการตรวจวิเคราะห์เชื้อทางห้องปฏิบัติการ ประเทศไทยสามารถทำได้อยู่แล้ว
ทั้งนี้ ยืนยันว่า ฮานตาไวรัสนั้นไม่มีการติดต่อจากคนสู่คน แต่เป็นการติดต่อจากสัตว์สู่คน สาเหตุของโรคดังกล่าวคือ หนูซึ่งอาศัยตามบ้าน ตามท่อน้ำ และไร่นา เช่นหนูนา หนูบ้าน หนูพุก โดยหนูเหล่านี้ สามารถที่จะนำโรคฉี่หนูได้อยู่แล้ว ในการป้องกันโรคประชาชนสามารถทำได้ คือการดูแลบ้านเรือนให้สะอาด และกำจัดหนูให้ตาย ไม่ใช้วิธีการไล่หนู ซึ่งนอกจากไม่ได้ผลแล้วยังจะทำให้หนูแพร่พันธุ์มากขึ้นอย่างรวดเร็ว จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคฉี่หนูและฮานตาไวรัสอีกด้วย
ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันในการรักษาผู้ป่วยจะไม่มียาเฉพาะ จะรักษาดูแลตามอาการ ดังนั้น หากประชาชนมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเอว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และเมื่อพบผู้ป่วยในพื้นที่จะต้องรายงานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อทำการสอบสวนควบคุมโรคไม่ให้แพร่ระบาด