xs
xsm
sm
md
lg

เตือน บริษัททำการตลาดเหล้าในเฟซบุ๊ก อาจเป็นแพะรับผิดแทนบริษัทเหล้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นักวิชาการ แฉ ช่วงเข้าพรรษา 3 เดือน บริษัทน้ำเมาแฝง “กลยุทธ์แบบเงาพราย” งัด 3 เทคนิคมัดใจนักดื่ม หวังกระตุ้นยอดขาย อัดควรมีจริยธรรม คำนึงผลกระทบต่อสังคม ฝาก สธ.-สตช.ตรวจสอบ ด้าน “เลขาฯมูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน” เตือน บริษัทรับทำ Social Network ควรศึกษากฎหมายก่อนตกเป็นแพะ แทนบริษัทเหล้า
            

วันนี้ (18 ก.ค.) ดร.นิษฐา   หรุ่นเกษม  เครือข่ายนักวิชาการเพื่อเฝ้าระวังปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  กล่าวถึงกรณีที่บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำการตลาดส่งเสริมการขายในช่วงเข้าพรรษาตลอด 3 เดือน ว่า ช่วงนี้ประชาชนที่ดื่มแอลกอฮอล์ส่วนใหญ่จะละเว้นอบายมุขสิ่งมึนเมาตลอด 3 เดือน จึงทำให้ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มียอดขายลดลง ไม่เป็นไปตามเป้า ดังนั้น สิ่งที่ธุรกิจเหล่านี้จะทำได้ คือ หาวิธีปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อส่งเสริมการขายสินค้า สำหรับกลยุทธ์ที่มาแรง และสามารถจูงใจนักดื่มมากขึ้น เรียกว่า “การตลาดแบบเงาพราย”  โดยมี 3 เทคนิค คือ 1.การแฝงไปในกิจกรรมสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ด้วยการเชื่อมโยงกับกิจกรรมจัดอีเวนต์ประเภทต่างๆ เช่น ช่วยสถาบันการศึกษา ช่วยชุมชน ช่วยสังคม ช่วยสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ลูกค้าเทใจให้กับตราสินค้าที่มีภาพลักษณ์ดูดี แต่หากพิจารณาแล้วจะพบว่า การจัดกิจกรรมอีเวนต์ในลักษณะนี้จะทุ่มงบประมาณให้กับการโฆษณาและประชาสัมพันธ์กิจกรรมมากกว่างบ CSR เสียอีก
          

ดร.นิษฐา   กล่าวว่า สำหรับเทคนิคที่ 2.คือ การจัดกิจกรรมพิเศษร่วมกับร้านค้าสถานบันเทิงและผับบาร์ ทั้งในโลกความเป็นจริงและโลกออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ยอดนิยม เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เพื่อให้ร้านค้าเหล่านี้ช่วยกันคิดค้นโปรโมชัน ลด แลก แจก แถม เพื่อที่จะผลักดันเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าสู่มือของลูกค้า และยังส่งผลให้ร้านค้าสั่งสินค้าแบบต่อเนื่อง และเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะสถานบันเทิงชื่อดังเป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่น และ 3.จัดกิจกรรมพิเศษร่วมกับสื่อมวลชน เช่น กิจกรรมลีโอทริปไปกับสาวลีโอ เพื่อหวังให้สื่อมวลชนช่วยเผยแพร่เรื่องราวและภาพของสินค้า ทำให้ประหยัดงบประมาณไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อพื้นที่โฆษณา
          

“หากพิจารณาการตลาดของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะพบว่า ต้องการขายของโดยการเลี่ยงกฎหมาย จึงขอร้องว่า ควรคำนึงถึงจริยธรรมทางการตลาด คำนึงถึงสุขภาพของประชาชน ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ไม่ใช่หวังเพียงเพิ่มยอดขายให้กับบริษัทของตนเองเท่านั้น  โดยเฉพาะในเทศกาลทำบุญเข้าพรรษา 3 เดือน ควรเป็นช่วงเวลางดทำการตลาด  งดการกระตุ้นยอดขายทุกรูปแบบ โดยเฉพาะในประเทศไทย หากธุรกิจเหล่านี้ยังคงโหมมอมเมาไม่เลือกที่ เลือกเวลาและความเหมาะสมอยู่แบบนี้  อาจสร้างความเสียหายให้กับสังคมเป็นวงกว้าง  อย่างไรก็ตาม ขอให้ทางกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ช่วยตรวจสอบพฤติกรรมดังกล่าว ว่า เข้าข่ายทำผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 หรือไม่” ดร.นิษฐา  กล่าว
  

ด้านนายพิริยะ ทองสอน เลขาธิการมูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน  กล่าวว่า ยอดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเข้าพรรษา 3 เดือน คาดว่า จะมีแนวโน้มลดลงแน่นอน  ดังนั้น กลยุทธ์ทางการตลาดของธุรกิจเหล่านี้ที่ต้องนำออกมาใช้ คือ สร้างการจดจำแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก และเข้าถึงเยาวชนมากขึ้น โดยทำการตลาดผ่าน Social Network  เช่น มีการแจกบัตรคอนเสิร์ตโดยให้คนเข้าไปกด like ในเฟซบุ๊ก ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 30 ที่ระบุว่า ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะที่เป็น การแสดง การชิงโชค การชิงรางวัล การแจก แถม หากละเมิดมีความผิดจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า หลังจากออกพรรษาไปแล้ว โดยเฉพาะช่วงปลายปีจะมีการจัดกิจกรรมลานเบียร์ บริษัทธุรกิจแอลกอฮอล์จะกลับมาทำการตลาดอย่างเข้มข้นอีกครั้ง ทั้งนี้ ทางเครือข่ายจะมีการเฝ้าระวังและเก็บข้อมูลเพื่อตรวจสอบการกระทำผิดต่อไป
     

“บริษัทที่รับทำการตลาดด้าน Social Network ให้กับบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรศึกษากฎหมาย ให้ชัดเจนก่อน เพราะอาจจะตกเป็นเครื่องมือโดยไม่รู้ตัว  ต้องกลายเป็นแพะแทนบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามความผิดตามมาตรา 30 และ 32 ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  นอกจากนี้ ผับ บาร์ ร้านอาหารที่ยังคงจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย  และขึ้นป้ายโฆษณาผิดกฎหมาย ควรหยุดการกระทำ และอย่าหลงเชื่อคำเชิญชวนของบริษัท หรือตัวแทนจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์   เนื่องจากตามคำพิพากษาของศาลในคดีต่างๆ ที่ผ่านมานั้น ผู้ประกอบการจะต้องจ่ายค่าปรับเป็นจำนวนเงินนับแสนบาทเอง” นายพิริยะ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น