รายงานพิเศษโดย เกศกาญจน์ บุญเพ็ญ
หลังจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ปฏิเสธการเข้าร่วมในการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอาชีวศึกษา (Vocational National Educational Test : V-NET) ที่จัดสอบโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เพื่อวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ชั้นปีที่ 3 เป็นครั้งแรก ประจำปีการศึกษา 2553 เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2554 ที่ผ่านมา
ในการจัดสอบ V-NET ครั้งที่ 2 ประจำปีการศึกษา 2554 ซึ่งจะจัดสอบเรียบร้อยในเดือน ม.ค.2555 ซึ่งครั้งนี้ “น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์” เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) ยอมเข้าร่วม โดย น.ส.ศศิธารา กล่าวว่า วิทยาลัยอาชีวศึกษาสังกัด สอศ.415 แห่งทั่วประเทศจะเข้าร่วมสอบ V-NET และ สทศ.ยอมรับข้อเงื่อนไขจัดสอบทั้งระดับ ปวช.3 และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส. 2) ซึ่งอาชีวศึกษามีจำนวนนักศึกษาเข้าสอบ 269,236 คน โดยกำหนดวันสอบที่แน่ชัดว่า ปวช.3 จะสอบวันที่ 22 ม.ค.2555 ขณะที่ ปวส.2 สอบวันที่ 29 ม.ค.2555
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้ สอศ.ต้องตื่นตัวเข้าร่วมสอบ เพราะผลการสอบ V-NET นอกจากจะถูกนำไปใช้เพื่อเป็นข้อมูลปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนของวิทยาลัย และใช้เพื่อประเมินผลการเรียนรู้ระดับชาติแล้ว ยังถูกกำหนดเป็นหนึ่งในตัวบ่งชี้ด้านความรู้และทักษะของนักศึกษาอาชีวศึกษา ที่ใช้เป็นองค์ประกอบของการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษา รอบที่ 3 (พ.ศ.2554-2558) ของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ซึ่งการประเมินครั้งที่ 1 ตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ส.ค.2554 นั้น สมศ.อนุญาตให้ สอศ.ใช้คะแนนการสอบของสถานศึกษาประกอบการประเมินแทนคะแนน V-NET
แต่ในการประเมินครั้งที่ 2 ซึ่งจะเริ่มเดือน พ.ย.2554 สมศ.ยืนยันการใช้คะแนน V-NET ทำให้ สอศ.ต้องหันมาให้ความสำคัญต่อการสอบ V-NET รวมทั้งเป็นเหตุผลสำคัญที่เสนอให้ สทศ.จัดสอบทั้งระดับ ปวช.และ ปวส.เพราะคะแนน V-NET มีผลต่อการประเมินคุณภาพวิทยาลัยในสังกัดนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม สอศ.ตระหนักดีว่า การสอบ V-NET ไม่มีผลโดยตรงต่อตัวผู้เรียนเหมือนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET ที่ สพฐ.กำลังจะนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการคัดเลือกเข้าเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 4 แต่ผลคะแนนส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพวิทยาลัย เพราะฉะนั้นเป็นไปได้ว่านักศึกษาบางส่วนอาจจะไม่ตั้งใจในการสอบ รวมไปถึงอาจจะไม่เข้าร่วมสอบก็เป็นได้ ดังนั้น จะต้องสร้างแรงจูงใจและถือโอกาสนี้ผลักดันให้เกิดการยกระดับคุณภาพของอาชีวศึกษาทั้งระบบ เนื่องจากที่ผ่านมาบ้านเราให้ความสนใจเด็กอาชีวะน้อยมาก
น.ส.ศศิธารา บอกว่า ได้จัดโครงการ “คณิต วิทย์ อังกฤษ คอมพ์ อาชีวศึกษากวดวิชาเพื่อคุณภาพ” ติวเข้มวิชาพื้นฐานก่อนสอบที่กำหนดให้เริ่มติวพร้อมกันทั่วประเทศ 4 คาบต่อสัปดาห์ตั้งแต่ 1 ส.ค.2554 และจะจัดสอบ PRE V-NET ให้แก่นักศึกษา ปวช.และ ปวส.เพื่อวัดผลคุณภาพจากที่ติวเข้ม ขณะเดียวกัน ใช้โอกาสนี้คัดเลือกครูดี ครูเก่งที่ฝังตัวอยู่ในวิทยาลัยอาชีวศึกษาทั่วประเทศ หรือที่สอนในวิทยาลัยอาชีวศึกษาฐานวิทย์มารวมตัวกันกว่า 500-600 คนเพื่อพัฒนาคู่มือการเรียนรู้วิชาพื้นฐาน ขณะที่ตัวผู้สอบเองก็วางแผนจะหารางวัลเพื่อสร้างแรงจูงใจให้มาร่วมสอบทั้งการให้ประกาศนียบัตรแก่ผู้ทำคะแนนได้ดีที่สุดในการสอบแต่ละวิชา รวมไปถึงวางแผนการมีโอกาสได้รับทุนการศึกษา หรือโอกาสกู้ยืมกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เป็นต้น
ทั้งนี้ สอศ.มีเวลาประมาณ 5 เดือนที่ต้องพยายามแก้ไขจุดอ่อนเรื่องวิชาพื้นฐาน พร้อมกับสร้างแรงจูงใจให้นักศึกษาที่มีสิทธิ์สอบกว่า 2 แสนคน มุ่งมั่นเข้าร่วมการสอบ V-NET อย่างจริงจัง ฉะนั้น จึงไม่แปลกใจที่ สอศ.ยอมควักกระเป๋าจัดรถรับบริการอาจารย์ผู้คุมสอบไปยังสนามสอบที่ผู้สอบมีจำนวนไม่ถึง 100 คนรวมถึงจัดเตรียมอาหารไว้บริการนักศึกษา อาจารย์ผู้คุมสอบ
คงต้องรอลุ้นผลสอบ V-NET อย่างเป็นทางการในปี 2555 ว่า คะแนนที่ออกมาจะสะท้อนคุณภาพผู้เรียนและวิทยาลัยในทิศทางใด ซึ่งหากไม่ได้เป็นตาม สอศ.ต้องการแต่ก็คงเป็นการบ้านชิ้นต่อไปที่ต้องหาทางแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น