รายงานพิเศษโดย ปิยะนันท์ ขุนทอง
เมื่อกล่าวถึงระบบการเรียนรู้ในโรงเรียนทุกวันนี้ หลายๆ แห่งเป็นระบบที่เน้นถ่ายทอดผ่านตำราโดยมีครูยืนสอนอยู่หน้ากระดาน และมีนักเรียนเป็นภาชนะหรือสิ่งรองรับที่ผู้สอนถ่ายเทมาให้ ถือเป็นมุมมองใหญ่ที่ครอบงำระบบการศึกษาในปัจจุบันอยู่ไม่น้อย
หากแต่การเรียนรู้ที่แท้จริงของมนุษย์ในมุมมองของ ดร.อ้อ-ณหทัย ทิวไผ่งาม สาวสวยร่างเล็กที่เข้ามารับไม้ต่อจากคุณพ่อ และคุณแม่ในฐานะทายาทและผู้อำนวยการโรงเรียนทิวไผ่งาม เธอให้มุมมองว่า ควรเป็นกระบวนการของการนำสิ่งที่อยู่ในตัวเด็กออกมา ไม่ใช่เพียงแค่รอรับการถ่ายทอดจากครูผู้สอนอย่างเดียว
ความสำคัญนี้ ทำให้โรงเรียนมุ่งสร้างความเข้มแข็งของนักเรียนภายใต้ MET (Multiple Intelligences+English+Technology) ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาการเรียนรู้แบบบูรณการโดยมีภาษาอังกฤษ และระบบคอมพิวเตอร์เชื่อมโยงข้อมูลการเรียนการสอน เพื่อให้นักเรียนเข้าใจ และเชี่ยวชาญในการนำเทคโนโลยีไปใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหา และนำเสนอความรู้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต
“เรามีห้องสมาร์ทคลาสรูม เป็นห้องเรียนต้นแบบ มีคอมพิวเตอร์ 48 เครื่อง มีเครื่องมือเชื่อมต่อวิดีโอ ซึ่งเราหวังว่าจะช่วยเปิดโลกการเรียนรู้ให้กว้างขึ้นโดยไม่ได้จำกัดอยู่ในห้องเรียน หรือครูแค่คนเดียว ซึ่งครูของเราจะทำหน้าที่เชื่อมเทคโนโยลีกับการสอน และครูเป็นเพียงนักแสดงเท่านั้น” ผู้บริหารรุ่น 2 ทิวไผ่งามเผยการเรียนการสอนแบบเชิงรุก ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะพัฒนาเป็นระบบวีดีโอคอนฟีเรนต์อย่างเต็มรูปแบบ
เห็นตัวอย่างได้จากการเรียนการสอนในรายวิชาเศรษฐศาสตร์ หัวข้อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ “มนฑลี บุญบรรเจิดสุข” หรือ “แฮม” นักเรียนชั้นม.5 สายวิทย์-คณิต อายุ 16 ปี โรงเรียนทิวไผ่งาม บอกเล่าให้ฟังว่า ครูจะทำหน้าที่กระตุ้นให้เด็กตั้งคำถาม และมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยน โดยดึงเนื้อหาจากตำราพาเด็กไปพูดคุยกับผู้รู้โดยตรงผ่านสื่อไอซีที อาทิ เอ็มเอสเอ็ม หรือสไกต์ เป็นต้น ซึ่งบางครั้งอาจมีวีดีโอเชื่อมโยงให้พูดคุยกับนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญในแขนงต่างๆ ด้วย
“เนื้อหาในหนังสือบางครั้งหนูก็ว่าโอเคนะ แต่การสอนของครูต้องทันสมัย ทันสถานการณ์อยู่ตลอด อย่างครูของที่นี่จะอินเทรนด์ มีการนำเทคโนโลยีมาทำให้เด็กสนุก และตื่นเต้น โดยครูทำหน้าที่เป็นนักแสดง เช่น มีการตั้งคำถามแล้วชวนให้เด็กช่วยกันค้นหาคำตอบในอินเทอร์เน็ต หรือบางครั้งเป็นคนประสานผู้รู้ หรือผู้มีประสบการณ์จากข้างนอกเพื่อเชิญมาพูดคุยผ่านเอ็มเอสเอ็ม หรือวิดีโอ” แฮมให้มุมมอง
อย่างไรก็ดี นอกจากจะดึงเทคโนโลยีมาใช้ในการสอนแล้ว ครูถือเป็นบุคคลากรที่ทางโรงเรียนให้ความสำคัญมากเช่นกัน โดยเฉพาะครูประถมที่จะต้องรู้จักกระตุ้นเด็กตั้งคำถาม และลดการใช้คำตอบเชิงปฏิเสธ เช่น ไม่ใช่ หรือไม่ถูกต้อง เพราะเป็นตัวปิดกั้น และหยุดความคิดของเด็ก โดยในอนาคตจะนำกล้องเข้าไปติดในห้องเรียนเพื่อประเมินครูในการเรียนเด็กแต่ละคาบ
“การพัฒนาเด็กรุ่นใหม่ เราต้องพัฒนาครูก่อน เริ่มจากเตรียมครูจากการส่งตัวแทนเพื่อนครูไปดูการสอนอย่างใกล้ชิดทุกวัน จัดตารางกันลงไปดู ซึ่งเรามีการวิเคราะห์ครูเพื่อให้ครูปรับตัวเป็นรายวันเลยค่ะ ท่านใดไม่ถามเด็ก หรือสอนน่าเบื่อ เราต้องบอกให้ปรับการสอนใหม่ ถ้าไม่ปรับก็อยู่โรงเรียนนี้ไม่ได้ เพราะถ้าครูไม่รู้จักกระตุ้น หรือเป็นนักแสดงที่ดีในชั้นเรียน เด็กก็เปลี่ยนไม่ได้ โดยครูต้องสื่อสารภาษาอังกฤษ และใช้ไอทีได้ดี จะมากจะน้อยต่างกันไป” ดร.อ้อ กล่าวทิ้งท้าย