สธ. แนะคนไทยอย่าตระหนกการระบาดของไวรัส “เฮนดรา” ที่ออสเตรเลีย ชี้ ไทยไม่เคยมีรายงานผู้ป่วย พร้อมร่วมมือกับเครือข่ายต่างประเทศ เฝ้าระวังป้องกันโรคอย่างใกล้ชิด แจงเป็นเชื้อไวรัสติดตต่อจากม้าสู่คน ติดเชื้อยาก ต้องสัมผัสม้าใกล้ชิด หากติดเชื้ออันตรายถึงชีวิต
จากกรณีที่มีข่าวประเทศออสเตรเลียพบการระบาดของเชื้อไวรัส เฮนดรา ซึ่งเป็นโรคติดต่อจากม้าสู่คน และมีอันตรายถึงชีวิต โดยพบการระบาดครั้งแรกที่ฟาร์มเลี้ยงม้าแห่งหนึ่งที่รัฐควีนสแลนด์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อเดือนมิถุนายน 2554 ต่อมาพบการระบาดแหล่งที่ 2 ที่รัฐเดิม นอกจากนี้ ยังพบผู้ติดเชื้อที่รัฐนิวเซาท์เวลเป็นแหล่งที่ 3 การระบาดครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่พบการระบาดครั้งแรกเมื่อปี 2537 มีผู้เสียชีวิต 4 ราย ม้าถูกฆ่ากว่า เกี่ยวกับ 50 ตัว นั้น
นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า โรคติดเชื้อไวรัสเฮนดรา (Hendra Disease) เป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อจากม้าที่ป่วยมาสู่คน การติดเชื้อไม่ง่าย จะต้องสัมผัสอย่างใกล้ชิดและสัมผัสเป็นเวลานาน คนที่ติดเชื้อดังกล่าว จะมีอาการตั้งแต่เล็กน้อย จนถึงหนักและเสียชีวิต เริ่มจากอาการปวดศีรษะ เจ็บคอ วิงเวียนศีรษะ ซึม สับสน ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยที่มีอาการหนัก จะเสียชีวิตภายใน 3-30 วัน อัตราเสียชีวิตประมาณร้อยละ 50 ผู้ป่วยบางรายอาจติดเชื้อแต่ไม่มีอาการก็ได้ จากการติดตามสถานการณ์ในประเทศไทย ยังไม่เคยมีรายงานผู้ป่วยจากเชื้อดังกล่าว ประชาชนชนไทยไม่ต้องตื่นตระหนก
อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขได้ให้กรมควบคุมโรค ติดตามเฝ้าระวังประสานงานกับเครือข่ายเฝ้าระวังโรคนานาชาติอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อติดตามประเมินสถานการณ์และวางแผนการป้องกันอย่างเหมาะสมต่อไป
ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า คนที่เสี่ยงติดโรคจากม้าที่ป่วย ได้แก่ ผู้ที่มีอาชีพเลี้ยงม้าและดูแลม้าใกล้ชิด วิธีป้องกันโรคจากม้า ขอแนะนำให้ผู้เลี้ยงสังเกตอาการผิดปกติของม้า ซึ่งโดยทั่วไปม้าอาจป่วยด้วยโรคต่างๆตามปกติได้อยู่แล้ว เช่นเป็นหวัด กลีบเท้าเปื่อย ตาแดง มีขี้ตา จะต้องรีบรักษา และให้ม้าพักจนกว่าจะหายป่วยก่อน จึงนำมาใช้งานเช่นวิ่งแข่ง หรือให้คนขี่ และภายหลังสัมผัสม้าทุกครั้งให้ล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆ และอาบน้ำชำระร่างกาย ซักเสื้อผ้าให้สะอาดและผึ่งแดด
“สำหรับคนขี่ม้าแข่ง หรือ จ๊อกกี้ ส่วนใหญ่จะแต่งตัวรัดกุมอยู่แล้ว ถือว่าเป็นการป้องกันการติดเชื้อได้ระดับหนึ่ง ส่วนคนทั่วไปหรือผู้ที่ชอบขี่ม้าเล่นเป็นครั้งคราว โอกาสติดเชื้อหรือสัมผัสใกล้ชิดกับม้ามีน้อยมาก เพราะม้าที่นำมาให้ขี่จะเป็นม้าที่สุขภาพดี แข็งแรง ไม่ป่วย อย่างไรก็ตามโอกาสที่คนทั่วไปจะใกล้ชิดมีน้อย ไม่เหมือนกับการเลี้ยงสุนัขหรือแมวซึ่งเป็นสัตว์ที่ใกล้ชิดกับคนมาก” นพ.สุวรรณชัย กล่าว
รองอธิบดีกรม คร.กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ม้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ต้องผ่านการตรวจโรคตามที่กรมปศุสัตว์กำหนด ส่วนใหญ่มักเป็นม้าแข่ง ซึ่งต้องเป็นม้าที่มีสุขภาพแข็งแรง ฉะนั้น จะไม่มีม้าป่วยเข้ามาในประเทศไทย