คุรุสภา เห็นใจ สช.ยอมเปิดหลักสูตร ป.บัณฑิต เป็นกรณีพิเศษ แก้ปัญหาขาดครู โดยให้ส่งรายชื่อมหา’ลัย ที่จะเปิดสอน และรายชื่อ นศ.เสนอบอร์ด คุรุสภาพิจารณา ขณะที่ สช.ตั้งเป้าผลิตครู 20,000 คนโดยดึงกลุ่มที่เคยสอนร.ร.เอกชนที่ยังไม่มีใบอนุญาตฯมาเรียน
นายชาญวิทย์ ทับสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) กล่าวถึงกรณีที่โรงเรียนเอกชนหลายแห่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการที่ครูลา ออกเพื่อสอบบรรจุครูผู้ช่วย สังกัดหน่วยงานรัฐ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ฯลฯ จึงเรียกร้องให้ สช.เจรจากับสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา (คุรุสภา) เพื่อยกเว้นให้ครูที่ยังไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู แต่จบในสาขาที่ขาดแคลนเข้าทำการสอนก่อนเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดครู ว่า สช.ได้หารือเบื้องต้นกับคุรุสภาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวแล้ว โดยมีทางออกร่วมกันคือ ให้ สช.เปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู (ป.บัณฑิต) ในมหาวิทยาลัยเอกชนทั่วประเทศ ที่ผ่านการคัดเลือกจาก สช.และคุรุสภา
อย่างไรก็ตาม สช.มีเป้าหมายจะผลิตครูให้ได้ 20,000 คน เพื่อจะผลิตครูมาทดแทนทั้งสายสามัญและอาชีวศึกษา เบื้องต้น ในวันที่ 4 ก.ค.นี้ จะประชุมเพื่อคัดเลือกมหาวิทยาลัยที่จะเข้าร่วมดังกล่าว ซึ่ง หากได้รายชื่อ
คุรุสภาใจอ่อนเปิด ป.บัณฑิต แก้ปัญหาขาดครูเอกชน
มหาวิทยาลัยที่จะผลิตมาแล้ว ก็จะให้มหาวิทยาลัยดังกล่าวส่งรายชื่อนักศึกษามาที่ สช.และคุรุสภา ต่อไป เพื่อจะคุมทะเบียนนักศึกษาได้ และเพื่อไม่ให้มีการสวมอ้างจนเกิดปัญหาอย่างปัจจุบัน
“ขณะนี้ผมมีนักศึกษาที่จะเรียนหลักสูตร ป.บัณฑิต ครบ 20,000 คน แล้ว เพราะทั้งหมดก็เคยเป็นครูเอกชนมาก่อน เพียงแต่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจึงสอนต่อไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาคุรุสภาได้ประกาศอย่างเคร่งครัดว่าครูเอกชนต้องมีใบอนุญาตฯ ถึงจะสอนได้ ทั้งนี้ ผมรู้สึกหายห่วงเรื่องครูเอกชนขาดแคลนแล้ว เพราะหลังจากเดือน ต.ค.นักศึกษาเหล่านี้ก็จะเริ่มฝึกสอนตามโรงเรียนได้ ซึ่งเมื่อฝึกสอนครบตามหลักสูตร ป.บัณฑิตแล้ว ก็จะสามารถยื่นขอใบอนุญาตฯ กับคุรุสภาได้ เพื่อมาสมัครบรรจุเป็นครูเอกชนต่อไป” เลขาธิการ สช.กล่าว
ด้าน นายดิเรก พรสีมา ประธานคณะกรรมการคุรุสภา (บอร์ด คุรุสภา) กล่าวว่า ตนได้หารือเรื่องดังกล่าวกับ สช.แล้ว ซึ่งก็เห็นตรงตามนั้นเพราะเป็นคิดว่าเป็นเรื่องที่จำเป็น จึงเห็นด้วยจะให้เปิดหลักสูตร ป.บัณฑิต เพื่อให้ครูเอกชนที่ยังไม่มีใบอนุญาตฯ ได้มาเรียนหรือฝึกสอนให้ได้ใบอนุญาตฯ เพื่อจะมาทดแทนครูที่ลาออกไปทั้งในสายสามัญและอาชีวศึกษา ทั้งนี้ สช.ต้องส่งรายละเอียด อาทิ รายชื่อนักศึกษา รายชื่อมหาวิทยาลัยที่ผลิตให้ชัดเจน เพื่อจะได้นำรายละเอียดดังกล่าวกล่าวไปหารือในที่ประชุมบอร์ด คุรุสภาวันที่ 21 ก.ค.นี้ อีกครั้ง เพื่อพิจารณา อย่างไรก็ตาม คุรุสภาเห็นด้วยกับการที่จะอนุมัติเปิดหลักสูตร ป.บัณฑิต เพื่อผลิตครูเอกชนในรุ่นนี้รุ่นเดียวเท่านั้น หากในปีต่อไป สช.ต้องการจะเปิดอีกก็ให้ทำรายละเอียดมาเสนอต่อไป