สกอ.เผยสนับสนุนให้ผลงานวิชาการสายรับใช้สังคมได้รับการยอมรับ โดยเสนอแนวคิด อุดมศึกษาร่วมสร้างประเทศไทยน่าอยู่ เข้า ครม.แล้ว ด้านประธาน กกอ.ชี้ นศ.สมัยนี้ เข้าถึงความรู้ได้ง่ายกว่าสมัยก่อน ทำให้ขาดแรงจูงใจใฝ่รู้ ขณะที่การเรียนการสอนทุกอย่างยังเป็นหลักสูตรที่ตายตัว แนะสร้าง นศ.ศตวรรษที่ 21 ครูต้องไม่เน้นการสอน แต่ต้องออกแบบการเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจให้แก่บัณฑิต พร้อมย้ำวิชาการสายรับใช้สังคม ยังไม่สามารถสร้างคุณค่า ตีราคาขอตำแหน่งทางวิชาการได้
วันนี้ ( 29 มิ.ย.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เป็นประธานเปิดงานสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้เรื่อง การพัฒนาวิชาการสายรับใช้สังคม จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมาจล โดยกล่าวเปิดสัมมนาว่า งานวิชาการสายรับใช้สังคมนั้น เป็นสิ่งที่สังคมเรียกร้องและต้องการที่จะเห็นการแสดงออกของสถาบันอุดมศึกษาที่ชัดเจน ในการนำพาประเทศออกจากวิกฤตทางการเมืองและสังคม สิ่งหนึ่งที่สังคมอยากเห็น คือ การศึกษาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของชีวิตจริงของคนไทย อยากเห็นนักวิชาการทำผลงานในสายการรับใช้สังคม การกำหนดแผนงานต่างๆต้องสอดคล้องกับควาามต้องการของสังคม และทิศทางการพัฒนาประเทศ รวมถึงการพัฒนาจากหลายฝ่ายที่จะผลักดัน แปรความหมายของการศึกษานั้นให้หมายรวมถึงการศึกษาตลอดชีวิต ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานสังคม และวัฒนธรรมไทย เพื่อตอบโจทย์ปัญหาของสังคม ชุมชน ท้องถิ่น และสนับสนุนให้ผลงานวิชาการสายรับใช้สังคมได้รับการยอมรับ การประเมินคุณภาพและคุณค่าในตำแหน่งทางวิชาการ
“สกอ.ก็มีการจัดหารือเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาเป็นหัวเรือใหญ่ ในการแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ พร้อมทั้งผลักดันแนวคิด ที่อยากให้อุดมศึกษามีส่วนร่วมในการสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่ หลังจากหารือกันระยะหนึ่ง สกอ.ได้เสนอแนวคิด อุดมศึกษาร่วมสร้างประเทศไทยน่าอยู่ โดยเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว”
ทั้งนี้ มีสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งที่เห็นความสำคัญและเป็นมหาวิทยาลัยนำร่องในการจัดการระบบการศึกษาที่เน้นการบูรณาการวิชาการสายรับใช้สังคม ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสถาบันอาศรมศิลป์
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธาน กกอ. กล่าวปาฐกถาพิเศษการพัฒนาวิชาการสายรับใช้สังคม ทิศทางการผลิตบัณฑิตในศตวรรษที่ 21ว่า ที่ผ่านมาอุดมศึกษามีส่วนสร้างปัญหาให้กับสังคม เพราะการเรียนการสอนทำให้นักศึกษายอมรับคนอื่นได้ยาก ดังนั้น การสร้างนักศึกษาในศตวรรษที่ 21 ที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงต้องอย่างรวดเร็ว และนักศึกษาปัจจุบันกับอดีตไม่เหมือนกัน โดยนักศึกษาในอดีตมีความรู้น้อยทำให้หิวกระหายในการเรียนรู้ แต่นักศึกษาสมัยนี้มีความรู้เยอะ เพราะหาความรู้ได้ง่าย ทำให้ไม่หิวกระหาย ขณะที่การสอนของครูน่าเบื่อ สอนแต่สิ่งที่รู้แล้วทำให้ผู้เรียนไม่เกิดความอยากรู้ การเรียนการสอนยังเน้นแบบเดิมๆ ทุกอย่างยังเป็นหลักสูตรที่ตายตัว ในศตวรรษที่21 การเรียนการสอนต้องเป็นการฝึกฝนควบคู่กับการเรียนรู้ ครูต้องไม่เน้นการสอน แต่ต้องออกแบบการเรียนรู้ และเน้นการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่บัณฑิต รวมถึงการเรียนต้องไม่เน้นถูกผิด แต่เน้นตามความคิด มีการเรียนแบบกลุ่ม และมีการเปิดเผยข้อสอบ ให้นักศึกษาได้คิด
“ขณะนี้มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ทำงานวิชาการสายรับใช้สังคม ซึ่งทำได้ดี และเป็นการตอบโจทย์ปัญหาสังคม ชุมชนท้องถิ่น แต่ผลงานดังกล่าวยังไม่สามารถสร้างคุณค่า ตีราคาให้เพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการ เช่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ หรือรองศาสตราจารย์ได้ จึงทำให้มหาวิทยาลัยเน้นการทำงานวิชาการนานาชาติ ทั้งที่การทำงานวิชาการรับใช้สังคมและวิชาการนานาชาติทำควบคู่กันไปได้ เพราะฉะนั้้น ควรมีการจัดระบบการจัดการวิชาการที่ดี และชัดเจน เพื่อเอื้อให้อาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ ทำงานเพื่อรับใช้สังคมมากขึ้น” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าว