วธ.จัดเผยแพร่ความรู้สื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์แก่โรงเรียนในสังกัด กทม.50 แห่ง เน้นห่างไกลยาเสพติด อบายมุข ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ขณะที่ ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม เผย คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นชอบ พ.ร.บ.สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เชื่อ ประกาศใช้ได้ทันรัฐบาลชุดนี้ พร้อมผลักดันให้เกิดกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยฯ ช่วยผู้ประกอบการผลิตสื่อดี
น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับภาคีเครือข่าย อุทยานการเรียนรู้ TK Park และมูลนิธิสยามกัมมาจล SCB Park จัดโครงการรณรงค์เผยแพร่องค์ความรู้สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และการเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมสัญจร เพื่อขจัดสื่อร้าย ขยายสื่อดี ไปตามโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร 50 แห่ง ภายในงานจะมีการรับชมภาพยนตร์สั้น เพื่อปลูกจิตสำนึกและค่านิยมที่ดี สร้างความตระหนักรู้เรื่อง การป้องกันท้องก่อนแต่ง ความสามัคคี วัฒนธรรมข้ามชาติ ผ่านการแสดงละครเวที การสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ นิทรรศการ การเล่นเกมชิงรางวัลต่างๆ เพื่อให้เด็กและเยาวชนใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ อีกทั้งห่างไกลยาเสพติด อบายมุข ที่สำคัญไม่ใช้เวลาไปกับการเล่นเกมออนไลน์ หมกมุ่นดูสิ่งลามกอนาจารอยู่ในร้านอินเทอร์เน็ต โดยคาดหวังว่า ครู เด็กจะได้เรียนรู้สื่อสร้างสรรค์ใหม่ๆ และ วธ.จะมีการรวบรวมปัญหาทั้งหมดนำไปเป็นแนวทางแก้ไขและนโยบายกระทรวงต่อไป
น.ส.ลัดดา กล่าวต่อว่า แม้ที่ผ่านมา วธ.และหน่วยงานภาคสังคมจะร่วมกันพัฒนาสร้างพื้นที่สื่อสร้างสรรค์ให้มากขึ้น แต่ก็ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการนำเสนอเนื้อหาทั้งความรุนแรง การยั่วยุทางเพศผ่านสื่อทุกแขนงมากขึ้น โดยเฉพาะเนื้อหาในละคร ที่ปัจจุบันพบว่า มีฉากตบตีแย่งชิงแบบรุนแรงเพื่อเอาชนะกัน โดยเฉพาะละครหลายเรื่อง เน้นให้มีฉากกอดจูบแบบแนบชิดของคู่พระ-นางมากขึ้น เพื่อเรียกเรตติ้งให้กับละครตัว มองว่า ปัจจุบันได้มีการกำหนดเรตติ้งของรายการ หรือละคร ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์แล้ว อีกทั้งละคร หรือ รายการ ที่มีความรุนแรงทุกชนิดก็จะออกอากาศในช่วงเวลาหลัง 21.00 น.เป็นต้นไป กรณีที่จะไปห้ามไม่ให้สื่อนำเสนอในมติในเชิงไม่สร้างสรรค์ทุกอย่างคงไม่ได้ เพราะบางเรื่องเนื้อหาที่ไม่ดีก็สามารถสร้างการเรียนรู้ ให้แก่เด็กในทางสร้างสรรค์ได้ สิ่งสำคัญที่สุด คือ ผู้ปกครองจะต้องสร้างความเข้าใจคัดกรอง และสร้างภูมิคุ้มกันการเรียนรู้ในการรับสื่อแก่เด็ก อย่างไรก็ตาม อยากขอความร่วมมือผู้ผลิตสื่อทุกสังกัด ควรมีความรับผิดชอบต่อสังคม มากกว่าการสร้างรายได้เพียงอย่างเดียว
“นอกจากนี้ นายสมชาย เสียงหลาย ปลัด วธ.ได้มอบนโยบายให้ศูนย์เฝ้าระวังปรับการทำงานใหม่โดยงานในส่วนเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมระดับจังหวัดนั้นจะต้องเน้นเฝ้าระวังระดับท้องถิ่น ประชาชนเชื่อมโยงกับโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน ส่วนการผลักดันให้เกิดกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อเป็นแหล่งสนับสนุนให้กับผู้ผลิตสื่อในทุกๆภาคส่วนของสังคมผลิตสื่อดีมีคุณภาพสู่สังคม ขณะนี้ พ.ร.บ.สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้ส่งกลับมาที่ วธ.เพื่อแจ้งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความเห็นภายใน 15 วัน จากนั้นจะนำเสนอต่อ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งตนคาดว่าจะสามารถส่งเข้าที่ประชุมครม.ประกาศใช้ทันในรัฐบาลนี้ เนื่องจากทราบมาว่าขณะนี้ทางนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้สอบถามถึงความคืบหน้ากฎหมายดังกล่าวแล้ว โดยมีการตั้งเป้าทุนประเดิมไว้ที่ประมาณ 500 ล้านบาท” ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กล่าว