เชื่อว่าบรรดาคุณสาวๆ ทั้งหลายทั้ง “สาวน้อย” และ “สาวเหลือน้อย” แทบทุกคนต้องเคยประสบปัญหาแบบ “ผู้หญิงๆ” ในช่วง “วันนั้นของเดือน” กันมาบ้างอย่างแน่นอน ไหนจะอาการ ปวดท้อง ปวดเมื่อย หงุดหงิด รู้สึกไม่สบายตัว รวมไปถึงอาการผิดปกติอย่าง “มามากเกินไป” ที่ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย-สุขภาพใจ และมีจำนวนไม่น้อย มีอาการมากจนต้องไปพบแพทย์ รับประทานยาแผนปัจจุบัน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ภูมิปัญญาไทยใกล้ๆ ตัวนี่แหละ ที่จะเป็นอีกหนึ่ง “ตัวช่วย” ที่ดีของคุณผู้หญิงผู้กำลังหงุดหงิดทั้งหลาย
“อารีวรรณ ต้นทัพไทย” ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า ปัญหาที่มาพร้อมกับการมีประจำเดือนของผู้หญิง ในทางการแพทย์แผนไทยเชื่อว่า เกิดจากความไม่สมดุลของธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลม และไฟ โดยโรคสตรีดังกล่าว ส่วนใหญ่มาจากปัญหาที่ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ มีปัญหา
“เมื่อมีประจำเดือน อุณหภูมิร่างกายจะสูงขึ้น ส่วนใหญ่เมื่อถึงช่วงนั้นผู้หญิงเราจะรู้สึกว่าตัวหนักๆ ไม่สบายตัว อันนี้เรียกว่าธาตุไฟกำเริบ แล้วอาจจะมีอาการปวดเมื่อยร่วมด้วย อันนี้คือธาตุลมกำเริบ แล้วผู้ที่ประจำเดือนมาน้อย อันนี้คือไฟกำเริบมากจนเลือดซึ่งมีส่วนประกอบของน้ำมาก ถูกทำให้แห้งเกินไป หรืออาจจะมีภาวะธาตุลมน้อยด้วย ทำให้ขับเลือดไม่ออก อันนี้ต้องดูเป็นเคส เป็นกรณีไป”
คุณหมอแพทย์แผนไทยรายนี้ แนะนำง่ายๆ ว่า หญิงสาวสมัยใหม่สามารถประยุกต์เอาภูมิปัญญาโบราณของไทยมาแก้ปัญหาความน่าหงุดหงิดของช่วงมีประจำเดือนได้ง่ายๆ โดยสำหรับผู้ที่มักจะปวดท้องก่อนมีประจำเดือน ให้กินอาหารที่มีฤทธิ์ร้อน แต่ไม่ร้อนจัด
“อย่างขิง ข่า ตะไคร้ เพื่อปรับร่างกายให้ร้อนพอดีๆ เหมาะกับการขับประจำเดือน แต่ไม่ใช่ของร้อนมากอย่างลำไย ทุเรียน หรือมะพร้าว ที่ร้อนเกินจนธาตุผิดปกติ มะพร้าวถ้ายังไม่ได้กินถือเป็นของเย็น แต่เมื่อกินเข้าไปในร่างกายแล้วจะร้อนมาก ดังนั้น เราจะสังเกตว่า คนโบราณมักจะเตือนไม่ให้กินมะพร้าวช่วงมีประจำเดือน”
คุณหมอสาวสวยทิ้งท้ายด้วยว่า อาการปวดท้องหรือปวดเมื่อยเล็กน้อยนั้น ถือเป็น “โลหิตปกติโทษ” ที่ถือเป็นธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้ของผู้หญิง แต่ถ้ามีอาการรุนแรงกว่า และต้องการเลี่ยงการกินยาแพทย์แผนปัจจุบัน หรืออยากใช้แพทย์แผนไทยเป็นทางเลือก สามารถขอรับการรักษาได้ที่คลินิกแพทย์แผนไทยที่ได้มาตรฐาน โดยในวิถีการรักษาแบบแพทย์แผนไทย มียาหลายตำรับที่ถูกคิดค้นเพื่อรักษาโรคสตรีจำพวกนี้
...แล้วสำหรับปัญหาปวดเมื่อยช่วงมีประจำเดือนล่ะ? เราๆ ท่านๆ มักจะได้ยินผู้เฒ่าผู้แก่พูดกันว่า มีประจำเดือนแล้วห้ามนวด อันนี้จริงหรือไม่อย่างไร?
อาจารย์กรกมล เอี่ยมธนะมาศ ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาแพทย์แผนไทยประเภทนวดไทย มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา ผู้เชี่ยวชาญการนวดไทยอย่างหาตัวจับยาก ได้เฉลยข้อสงสัยนี้ว่า อาการที่เกิดขึ้นในผู้หญิงช่วงมีประจำเดือนนั้น ส่วนใหญ่มักเกี่ยวกับเลือดและลมร่วมกันกระทำทั้งสิ้น ที่หลายคนอาจจะคุ้นหูกับคำว่า “เลือดลมไม่ดี” นั่นเอง
“การรักษาซึ่งโรคที่เกี่ยวกับการมีประจำเดือนนั้น ในทางแพทย์แผนไทย จะต้องมีการรักษาทั้งการใช้ยา และการนวดร่วมกัน ในเรื่องการนวดนั้น จะนวดช่วงวันก่อนมีประจำเดือนหรือวันหลังมีประจำเดือนไปแล้ว การนวดจะกระทำเพื่อให้เลือดและลมให้สามารถเดินได้สะดวกขึ้น เป็นการกระตุ้นให้มีการขับของเสียหรือเลือดเสียออกมา หากรักษาร่วมกับการใช้ยา ก็จะทำให้การให้ยาในผู้ป่วยคนนั้น ๆ ดีขึ้น แต่หากอาการผิดปกติของผู้ป่วยเกิดขึ้นจากโครงสร้างของร่างกายที่เบี่ยงหรือบิดไป จนทำให้ประจำเดือนออกมาไม่เป็นปกติ การนวดก็จะสามารถช่วยเปลี่ยนโครงสร้างที่ผิดปกตินั้นได้ และทำให้ประจำเดือนออกมาดีขึ้น”
อาจารย์กรกมล ทิ้งท้ายโดยสรุปว่า แม้การนวดจะช่วยบำบัดอาการไม่พึงประสงค์ช่วงมีประจำเดือนได้ก็จริง แต่ต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากการนวดจะช่วยกระตุ้นให้เลือดไหลเวียน ถ้านวดโดยผู้ไม่เชี่ยวชาญ อาจส่งผลให้เกิดการกระตุ้นจนประจำเดือนมามากเกินไป หรือมีอาการผิดปกติได้