xs
xsm
sm
md
lg

ยังไม่สรุปค่าแรง กทม.นัดเคาะครั้งสุดท้าย 5 ก.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ค่าแรง กทม.สรุปไม่ลงตัว หลังหน่วยงานเศรษฐกิจท้วงสถานการณ์ยังผันผวน ห่วงผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ นัดเคาะครั้งสุดท้าย 5 ก.ค.ก่อนชงบอร์ดพิจารณา 6 ก.ค.นี้

วันนี้ (28 มิ.ย) ที่กระทรวงแรงงาน นางอำมร เชาวลิต ที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการค่าจ้าง กทม.กล่าวว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการ ยังคงยืนยันมติเดิมจากการประชุมครั้งที่ผ่านมา โดยเห็นชอบให้ปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ เนื่องจากพิจารณาข้อมูลทุกด้านโดยเฉพาะผลสำรวจอัตราค่าครองชีพที่สูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ จำเป็นต้องเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมยังไม่สามารถสรุปตัวเลขค่าจ้างที่จะปรับขึ้นได้ แม้ว่าจะมีการเสนอกรอบการปรับเพิ่มขึ้นไว้ก่อนหน้านี้ คืออยู่ที่ 5-9 บาทก็ตาม เนื่องจากมีการท้วงติงจากฝ่ายหน่วยงานด้านเศรษฐกิจทั้ง 3 หน่วยงาน ได้แก่ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงพาณิชย์ เห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจยังมีการเคลื่อนไหวและผันผวน ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อ และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และผลิตภัณฑ์มวลรวมระดับจังหวัด
 
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้แสดงความเป็นห่วงไปยังทางผู้ประกอบการ โดยเฉพาะการนำข้อมูลการให้สัมภาษณ์ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ระบุถึงผลกระทบทางธุรกิจจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแบบก้าวกระโดด ซึ่งมีสถานประกอบการเริ่มย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มที่ไม่สามารถแบกต้นทุนค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นได้

การพิจารณาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน โดยเฉพาะค่าจ้างของกรุงเทพฯ และปริมณฑล หากตัวเลขไม่ชัดเจน จะมีผลกระทบในวงกว้าง ที่ประชุมจึงให้ทุกฝ่ายกลับไปทำการบ้านเพื่อเสนอข้อมูลกลับมาอีกครั้ง ในการประชุมครั้งหน้า ในวันที่ 5 กรกฎาคม นี้ โดยไม่ต้องเสนอผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองฯ แต่จะเสนอให้คณะกรรมการค่าจ้างกลางพิจารณา ในวันที่ 6 กรกฎาคมได้เลย” นางอำมร กล่าว

ทั้งนี้ จากข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ สรุปว่า ปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำใน กทม.อยู่ที่ 215 บาทต่อวัน ส่วนอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 3.3 ขณะที่ค่าใช้จ่ายตามอัตภาพของแรงงานอยู่ที่ 222.06 บาทต่อวัน หากเปรียบเทียบกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำติดลบอยู่ที่ 7.06 บาทต่อวัน ค่าใช้จ่ายตามคุณภาพอยู่ที่ 235.84 บาทต่อวัน หากเปรียบเทียบกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำติดลบอยู่ที่ 20.84 บาทต่อวัน ดังนั้น ที่ประชุมจึงเห็นว่าแนวโน้มที่จะปรับค่าจ้างขั้นต่ำควรอยู่ที่ 5-9 บาทต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 2.32-4.19 อย่างไรก็ตาม หากปรับให้สอดรับกับอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 7 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.3
กำลังโหลดความคิดเห็น