xs
xsm
sm
md
lg

คาดเปิดใช้อุโมงค์ทางลอดศรีนครินทร์-สุขุมวิท 103 ได้ตุลาฯ นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพรเทพ เตชะไพบูลย์  เป็นประธานในพิธีผนึกคอนกรีตแผ่นสุดท้าย เพื่อปิดงานพื้นผิวจราจรของอุโมงค์
“พรเทพ” ลงมือปิดคอนกรีตแผ่นสุดท้ายงานพื้นผิวจราจรอุโมงค์ทางลอดศรีนครินทร์-สุขุมวิท 103 เผยภาพรวมคืบหน้ากว่า 80% คาดเปิดให้สัญจรได้ในเดือนตุลาคมนี้

วันนี้ (27 มิ.ย. ) นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานในพิธีผนึกคอนกรีตแผ่นสุดท้าย เพื่อปิดงานพื้นผิวจราจรของอุโมงค์ทางลอดแยกศรีนครินทร์-สุขุมวิท 103 ซึ่งจะทำให้โครงสร้างหลักของอุโมงค์ฯ แล้วเสร็จทั้งหมด โดยมีนายจุมพล สำเภาพล ผู้อำนวยสำนักการโยธา(สนย.) รายงานความคืบหน้าและภาพรวมของโครงการ ซึ่งปัจจุบันโครงการมีความก้าวหน้าประมาณร้อยละ 80 และจะเปิดการจราจรได้ภายในเดือน ต.ค. 2554 ตามแผนงาน ซึ่งเมื่อเปิดการสัญจรแล้วจะช่วยรองรับปริมาณรถยนต์ที่ผ่านแยกได้ถึง 14,000 คันต่อชั่วโมง และช่วยบรรเทาความหนาแน่นของถนนโครงข่ายใกล้เคียง เช่น ถนนสุขุมวิท ถนนบางนา-ตราด ถนนสุขุมวิท 103 และถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ได้เป็นอย่างมาก
 

สำหรับโครงการก่อสร้างทางลอดถนนศรีนครินทร์กับถนนสุขุมวิท 103 เป็นโครงการภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาการจราจรเร่งด่วนระยะกลางของกรุงเทพมหานคร ซึ่งกทม. ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกให้เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการตามมติคณะกรรมการครั้งที่ 1/2547 เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2547 ดังนี้ สำนักการโยธา กทม.จึงดำเนินการสำรวจและออกแบบการก่อสร้างปรับปรุงโครงการดังกล่าว และดำเนินการต่อจนได้ผู้รับจ้างคือ กิจการร่วมค้าศรีนครินทร์ เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง และว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาควบคุมงานโครงการประกอบด้วย บริษัท ยูทิลิตี้ ดีไซน์ คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท อรุณชัยเสรี คอนซัลติ้ง เอนจิเนียร์ส จำกัด และบริษัท เอ กรุ๊ป คอนซัลแตนท์ จำกัด เริ่มงานก่อสร้างเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2552 ระยะเวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 900 วัน สิ้นสุดสัญญาวันที่ 17 ต.ค. 2554
“พรเทพ” ลงมือปิดคอนกรีตแผ่นสุดท้าย
ในส่วนลักษณะของโครงการเป็นการก่อสร้างทางลอดตามแนวถนนศรีนครินทร์ขนาด 4 ช่องจราจร แยกเป็นทิศทางละ 2 ช่องจราจร ความยาว 757 เมตร  กว้าง 16.60 เมตร ความสูง 5 เมตร มีงานก่อสร้างระบบระบายน้ำ ระบบสาธารณูปโภคใต้ดิน ปรับปรุงยกระดับถนน คันหินทางเท้าตลอดพื้นที่โครงการและส่วนต่อเนื่อง รวมความยาวโครงการมากกว่า 1 กิโลเมตร
 

นอกจากนี้ สำนักการโยธายังได้มีการดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงถนนศรีนครินทร์ ซึ่งอยู่ในพื้นที่บริเวณต่อเนื่องกับโครงการปรับปรุงทางลอดฯ โดยได้เริ่มดำเนินการจากแยกพัฒนาการ-สุขุมวิท 103 (อุดมสุข) ที่จะปรับปรุงยกระดับถนนเดิมให้สูงขึ้นอีก 50 ซม. และขยายถนนจาก 6 ช่อง เป็น 8 ช่องจราจร พร้อมระบบระบายน้ำ ระยะทางประมาณ 6.5 กิโลเมตร เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปลายปี 2553 ใช้เวลาก่อสร้าง 750 วัน ทั้งนี้เมื่อโครงการปรับปรุงถนนศรีนครินทร์ฯ แล้วเสร็จ และเชื่อมต่อกับทางลอดแห่งนี้แล้ว จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงข่ายการจราจรในถนนศรีนครินทร์เชื่อมต่อกับถนนพระราม 9 และทางพิเศษศรีรัชหรือ   ทางด่วนขั้นที่ 2 ตอน D ทำให้สามารถรองรับปริมาณการจราจรที่สูงขึ้นในอนาคตได้ถึง 12,000 คันต่อชั่วโมง ช่วยบรรเทาความแออัดของการจราจรบนถนนศรีนครินทร์และถนนสายหลักในบริเวณใกล้เคียง เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงข่ายการจราจรให้สามารถรองรับปริมาณการจราจรที่สูงขึ้นในอนาคต ทำให้ลดระยะเวลาในการเดินทางระหว่างศูนย์กลางเมืองกับพื้นที่ฝั่งตะวันออก และยังเป็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในถนนศรีนครินทร์ เป็นการลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ ให้ดียิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น