สทศ.สร้างความเข้าใจอาชีวะ จัดสอบวีเน็ต ปวช.3 เท่านั้น ระบุยังไม่จัดสอบวีเน็ตระดับ ปวส.เหตุต้องศึกษารายละเอียดให้ดีก่อน เพราะการเรียนของ ปวส.คาบเกี่ยวความรู้ระดับอุดมศึกษา
นายสัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สทศ.ได้หารือผู้บริหารของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ทั้งในส่วนกลาง จากวิทยาลัยสังกัด สอศ.สังกัดสำนักงานคณะกรรมการศึกษาเอกชน (สช.) และสถานศึกษาที่เปิดสอนในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนจิตรลดา วิทยาลัยชุมชน เป็นต้น เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันในการจัดทดสอบอาชีวศึกษาระดับชาติ (วีเน็ต) ซึ่งเดิมในปีการศึกษา 2553 ที่ผ่านมา สทศ.ได้จัดสอบวีเน็ตให้นักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ชั้นปีที่ 3 ของวิทยาลัยอาชีวศึกษา สช.แล้วครั้งแรก ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าการสอบวีเน็ต ครั้งที่ 2 ประจำปีการศึกษา 2554 จัดสอบในเดือน ม.ค.2555 นั้น นักศึกษาวิทยาลัยอาชีวะสังกัด สอศ.จะเข้าร่วมในการสอบด้วย
อย่างไรก็ตาม การหารือครั้งนี้ สทศ.ต้องการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมาร่วมสะท้อนปัญหาจากการสอบที่ผ่านมา เพื่อเป็นข้อมูลนำไปใช้ทำรายละเอียด แผนผังข้อสอบ วิชารวมถึงจำนวนชั่วโมงการสอบ และคุณลักษณะเฉพาะของข้อสอบวีเน็ตที่เหมาะตามการจัดการเรียนการสอน โดย สทศ.ได้นำผลการประเมินวีเน็ตรอบแรกมาแนะนำการนำผลคะแนนไปใช้ รวมถึงแนะนำว่าควรจะจัดสอบวิชาใดบ้างให้เหมาะสมกับนักศึกษาด้วย
ส่วนที่กรณีที่ สอศ.ได้เสนอว่าจะขอให้นักศึกษาระดับ ปวช.ชั้นปีที่ 2 และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นปีที่ 2 เข้าร่วมการสอบวีเน็ต เพราะเกรงว่าหากให้ชั้นปีที่ 1 สอบจะมีปัญหาเพราะวีเน็ตจะวัดในวิชาพื้นฐานแต่บางวิทยาลัยไมได้กำหนดให้เรียนตั้งแต่ชั้นปีที่ 1นั้น นายสัมพันธ์ กล่าวว่า ตนได้ทำความเข้าใจแล้วว่าการจัดสอบวีเน็ตก็เหมือนการจัดสอบโอเน็ตซึ่งจะวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาภาพรวมเพราะฉะนั้นการสอบจะจัดสอบในระดับปวช.ชั้นปีที่ 3 เท่านั้น
“ในส่วนของปฏิทินการสอบข้อสอบวีเน็ต รวมถึงการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) สทศ.ได้กำหนดเรียบร้อยแล้ว สำหรับข้อสอบนั้นก็จะเชิญอาจารย์ของวิทยาลัย หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันออกข้อสอบด้วย แต่ทั้งนี้อาจารย์ผู้ออกข้อสอบจะต้องมีคุณสมบัติตามที่ สทศ.กำหนดด้วย”นายสัมพันธ์ กล่าวและว่า สำหรับการสอบวีเน็ตระดับ ปวส.นั้นจะยังไม่มีเกิดขึ้นตอนนี้ เนื่องจากว่าจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดให้ครบถ้วนก่อน เพราะระดับ ปวส.การเรียนการสอนจะมีความรู้สูงกว่าความรู้วิชาพื้นฐาน และยังมีความรู้ที่คาบเกี่ยวกับการเรียนในระดับอุดมศึกษาจึงต้องศึกษารายละเอียดให้แน่ชัดก่อนจะกำหนดว่าระดับ ปวส.จะจัดสอบวิชาใดบ้าง