xs
xsm
sm
md
lg

ยาเสพติดคร่าชีวิตคนไทยกว่า 400 ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ยาเสพติดคร่าชีวิตคนไทยกว่า 400 ราย สูญเสียปีสุขภาวะกว่า 1.3 แสนปี สธ.-สสส.เผย ยาเสพติดเป็นตัวการทำติดเอดส์เป็นอันดับสอง ชี้หากทุกฝ่ายร่วมมือกันป้องกันได้

ดร.ทพ.ญ.กนิษฐา บุญธรรมเจริญ หัวหน้าโครงการพัฒนาการดำเนินการจัดทำเครื่องชี้วัดภาระโรคและปัจจัยเสี่ยงของประเทศไทย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ศึกษาภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชาชนไทย เกี่ยวกับสถานการณ์ผู้ติดสารเสพติดล่าสุดในปี 2552 พบผู้ติดสารเสพติดจำนวน 14,376 คน แบ่งเป็น เฮโรอีน 1,031 คน กัญชา 6,711 คน และแอมเฟตตามีน 6,634 คน มีผู้เสียชีวิต 403 ราย คิดเป็น 0.1% ของผู้ติดสารเสพติดทั้งหมด ส่งผลทำให้สูญเสียปีสุขภาวะ (ปีที่มีสุขภาพดี) ที่เกิดขึ้นจากการที่มีผู้เสียชีวิตและพิการจากการใช้ยาเสพติดทั้งหมดรวมกันแล้วกว่า 1.36 แสนปี แบ่งเป็นชาย 1.28 แสนปี และหญิง 8.6 พันปี

“จำนวนปีสุขภาวะที่เสียไปสะท้อนให้เห็นว่า แทนที่คนเหล่านี้จะได้ใช้เวลาที่เหลืออยู่สร้างรายได้และคุณค่าให้กับประเทศ กลับต้องมาถูกบั่นทอนคุณภาพชีวิตหรือต้องเสียชีวิตก่อนวันอันควรจากยาเสพติดทั้งที่ป้องกันได้ ที่น่าตกใจคือ ยังพบว่า ผู้ติดสารเสพติดเหล่านี้ส่วนหนึ่งเสียชีวิตจากโรคเอดส์ ซึ่งสะท้อนว่าการเสพสารเสพติดมีความสัมพันธ์ให้ติดเชื้อโรคเอชไอวีได้” ดร.ทพ.ญ.กนิษฐา กล่าว

ดร.ทพ.ญ.กนิษฐา กล่าวว่า แม้ว่าภาพรวมของการติดเชื้อเอดส์ ยังคงมีสาเหตุหลักมาจากการมีเพศสัมพันธ์ แต่การใช้ยาเสพติดก็เป็นสาเหตุอันดับสอง ด้วยการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ติดเชื้อเอดส์ นอกจากนั้นข้อมูลที่คาดประมาณอาจยังต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากตั้งแต่ปี 2545 รัฐบาลมีความจริงจังในการรณรงค์ปราบปรามยาเสพติด มีการดำเนินการที่จริงจัง มีบทลงโทษที่รุนแรง ทำให้ผู้เสพไม่กล้าเปิดเผยว่าตัวเองติดยาเสพติด จากสถิติกระทรวงสาธารณสุขในปี 2552 ยังมีจำนวนผู้เข้ารับการบำบัดประมาณ 1.2 แสนคน ทั้งนี้ เสนอแนะว่า เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลกตรงกับวันที่ 26 มิถุนายนนี้ เพื่อป้องกันและควบคุมยาเสพติด หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรร่วมมือในทุกภาคส่วนในการรณรงค์ป้องกันและปราบปรามการใช้ยาเสพติดทั้งหมด และควรให้ความสำคัญกับปัจจัยทางสังคมเช่น ความยากจน การศึกษา การเป็นคนชายขอบ เป็นต้น ซึ่งจากหลายการศึกษาพบว่ามีความสัมพันธ์กับการใช้สารเสพติด เพื่อช่วยกันลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น