กระทรวงแรงงานแก้กฎหมาย 3 ฉบับ เตรียมรับเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีอาเซียน 7 สาขาวิชาชีพ เร่งทำเกณฑ์มาตรฐานแต่ละสาขา ดันเข้าสู่มาตรฐานเดียวกัน ชี้ควรปรับขึ้นเงินเดือนให้สูงขึ้นสกัดสมองไหล
วันนี้ (23 มิ.ย.) ที่กระทรวงแรงงาน นายสิงหเดช ชูอำนาจ ผอ.สำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว หลังประชุมคณะทำงานจัดทำแผนการทบทวนและแก้ไขปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบ ของกระทรวงแรงงานที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือเสรี 7 สาขาวิชาชีพว่า ที่ประชุมมีมติให้ปรับปรุงกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ 1.พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 2.ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ฉบับที่.... และ 3.พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 เนื่องจากกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ มีบทบัญญัติบางประการที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งเกรงว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีอาเซียนปี 2558 ใน 7 สาขาวิชาชีพ ประกอบด้วย แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล สถาปนิก วิศวกร ช่างสำรวจ และนักบัญชี เพื่อให้แรงงานกลุ่มเหล่านี้สามารถเข้ามาทำงานในประเทศไทยและจัดตั้งสหภาพ แรงงานได้ ซึ่งขณะนี้ร่างแก้ไขกฎหมายทั้ง 3 ฉบับอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา หากพิจารณาแล้วเสร็จทางกระทรวงแรงงานจะเสนอต่อรัฐบาลใหม่เพื่อผลักดันเข้า สู่สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ต่อไป
นายสิงหเดชกล่าวอีกว่า ในที่ประชุมตัวแทนสมาคมวิชาชีพทั้ง 7 สาขา ได้แสดงความเป็นห่วงในเรื่องเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพ เนื่องจากมาตรฐานแต่ละประเทศไม่เท่ากัน จึงเห็นว่าควรจัดทำเกณฑ์มาตรฐานกลางของแต่ละวิชาชีพในระดับอาเซียน เพื่อนำมาใช้ประเมินแรงงานอาเซียนซึ่งจะทำให้แรงงานไทยและต่างชาติเข้าสู่ มาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งในเรื่องค่าตอบแทนในแต่ละประเทศจะมีอัตราที่ไม่เทากัน หากประเทศไหนให้ค่าตอบแทนสูง เกรงว่าแรงงานจะทะลักเข้าไปประเทศนั้นมากขึ้น ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบให้แต่ละสมาคมวิชาชีพไปศึกษาข้อมูลจำนวนประชากร รวมถึงสัดส่วนของประชากรต่อจำนวนผู้ประกอบวิชาชีพทั้ง 7 สาขาของแต่ละประเทศในอาเซียน เพื่อวางแผนกำหนดสัดส่วนการเปิดรับและไหลออกของแรงงานแต่ละสาขาให้สอดคล้อง กับอุปสงค์และอุปทานของแต่ละประเทศ จะได้ไม่เกิดปัญหาขาดแคลนบุคลากร
“ปัจจุบันแรงงานไทยในหลายสาขาวิชาชีพ เช่น แพทย์ พยาบาล มีการไหลออกไปทำงานต่างประเทศกันอยู่แล้ว ซึ่งเป็นไปตามแหล่งทุนและความขาดแคลนของประเทศนั้นๆ ดังนั้น เมื่อเปิดประชาคมอาเซียน ประเทศไทยก็ต้องเตรียมความพร้อมรับมือแรงงานไทยที่จะไหลออกไปนอกประเทศเพิ่มขึ้น เช่น รัฐบาลควรเพิ่มค่าตอบแทนสูงขึ้นและเปิดช่องให้มีการหารายได้เสริม อาทิ ปรับเงินเดือนแพทย์ พยาบาลให้สูงขึ้นและให้แพทย์สามารถเปิดคลินิกได้ ทั้งนี้ ปัญหาเหล่านี้จะมีการนำไปหารือในเวทีอาเซียนอีกครั้ง” นายสิงหเดชกล่าว
นายสิงหเดช กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้เตรียมความพร้อมไปพอสมควรซึ่งค่อนข้างล้ำหน้าไปกว่าประเทศอื่นๆ ดังนั้น ในที่ประชุมจึงได้ตั้งข้อสังเกตว่าประเทศไทยควรจะสงวนท่าทีในเรื่องนี้ และคอยจับตาดูว่าประเทศอื่นๆ มีการเตรียมความพร้อมอย่างไร