มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และภาคีเครือข่าย เสนอรัฐบาลใหม่เร่งออก กม.ทวงหนี้อย่างเป็นธรรม หลังพบผู้บริโภคร้องเรียนอื้อ ! แฉแนวทางการทวงหนี้ของ ธปท.มีช่องโหว่ เผย ยอดถือบัตรเครดิตคนไทยเฉลี่ย 4-5 ใบต่อคน แฉธนาคารเอาเปรียบผู้บริโภค คิดดอกเบี้ยแพงเวอร์ สูงสุด 28% ขณะดอกเบี้ยเงินฝากแค่ร้อยละ 2
วันนี้ (16 มิ.ย.) นส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวในการแถลงข่าวเกี่ยวกับการเสนอนโยบายเรื่องแก้ปัญหาหนี้ต่อพรรคการเมือง ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกับชมรมหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล และเครือนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ว่า เนื่องจากที่ผ่านมามูลนิธิได้เคยมีการร้องเรียนในปัญหาความไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับ ดอกเบี้ยบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เป็นจำนวนมากโดยข้อมูลการร้องเรียนในปี 2554 ระหว่างเดือน 1 ม.ค.-15 มิ.ย.พบว่า มีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวทั้งหมด 126 ในลักษณะปัญหาที่แตกต่างกันดังนี้ การผิดนัดชำระ พบ 85 ราย หรือร้อยละ 67.46, การทวงหนี้ไม่เป็นธรรมพบจำนวน 23 ราย หรือร้อยละ 18.25, ถูกฟ้องให้ชำระหนี้ 8 ราย หรือร้อยละ 6.35 ข้อมูลเครดิตบูโร 3 ราย ร้อยละ 2.38 ค่าธรรมเนียม(ดอกเบี้ยไม่เป็นธรรม) และการนำเอกสารไปทำบัตรกรณีละ 2 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.59 และกรณีสุดท้ายถูกเสนอให้ปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 1 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.79
น.ส.สารี กล่าวด้วยว่า จากการร้องเรียนดังกล่าวนั้นส่งผลให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคเกินจริง โดยเฉพาะธุรกิจธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ไม่เคยสนใจประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการ ติดตามทวงหนี้ย่างเป็นธรรม และยังมีการคิดดอกเบี้ยที่สูงเกินจริงด้วย ดังนั้น เพื่อความเป็นธรรมแก่ประชาชน อยากเสนอให้พรรคการเมืองที่กำลังหาเสียงในขณะนี้เร่งออกนโยบายในการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนให้ออก พ.ร.บ.ทวงหนี้อย่างเป็นธรรม เพื่อแก้ปัญหาแบบองค์รวมและสามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้ ซึ่งขณะนี้ พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) ตั้งแต่ 14 ก.ย.2553 และขณะนี้อยู่ในขั้นกฤษฎีกา ดังนั้น อยากให้นักการเมืองสนใจปัญหาของผู้บริโภคในส่วนนี้ด้วย
ด้าน ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง กรรมการเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ในการแก้ปัญหาครั้งนี้รัฐบาลใหม่ควรที่จะมีการออกนโยบายเรื่องกการคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิตให้เหลือไม่เกินร้อยละ 15 เพื่อสร้างความเป็นธรรมในเรื่องนี้ทั้งระบบ เนื่องจากการศึกษาของเครือข่ายนักวิชาการ พบว่า ปัจจุบันปัญหาเรื่องหนี้บัตรเครดิต นั้นมีปัญหา 3 ประเด็นหลักๆ คือ 1.การคิดดอกเบี้ยของธนาคารไทยพาณิชย์ และสถาบันการเงินนั้น มีการคิดเกินกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด โดยพบว่า ปัจจุบันมีการเรียกเก็บสูงสุดถึงร้อยละ 28 ขณะที่ต่างประเทศอย่างเยอรมนี เก็บสูงสุดแค่ร้อยละ 16 ประเด็นที่ 2 กรณีการทวงหนี้ในปัจจุบัน แม้ ธปท.มีประกาศชัดเจนเรื่องแนวทางการทวงหนี้ โดยมีการกำหนดเวลาที่เหมาะสม รวมทั้งห้ามใช้คำหยาบและพฤติกรรมการทวงที่รุนแรง แต่ก็เป็นเพียงประกาศเท่านั้น ไม่มีบทลงโทษในทางกฎหมาย ส่งผลให้ผู้เป็นลูกหนี้ต้องเดือดรอนในส่วนนี้ด้วย และประเด็นที่ 3 คือ เรื่องการส่งเสริมการขายและการดึงดูดลูกค้าให้มีการเข้าถึงบัตรเครดิตมากขึ้น จากการศึกษาพบว่ามีผู้ใช้บัตรเฉลี่ยคนละ 4-5 ใบ ซึ่งกรณีนี้ผู้ประกอบการก็จะได้ใช้ช่องทางในการเก็บหนี้ที่สูงขึ้นด้วย
ขณะที่นายชูชาติ บุญยงยศ ประธานชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล กล่าวว่า แนวทางที่ ธปท.ใช้ในขณะนี้เป็นแค่แนวทางเท่านั้น ไม่ใช่ทางออกในการแกปัญหา เพราะปัจจุบันเราพบช่องทางการเอาเปรียบผู้บริโภคมากมาย เช่น การจ้างบริษัททวงหนี้ ซึ่งบริษัทเหล่านี้จะอ้างตัวหลอกลวงประชาชน ว่า เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจบ้าง จากกรมบังคับคดีบ้าง หรืออ้างตัวว่าเป็นบุคคลของศาล แล้วติดตามทวงหนี้ด้วยการใช้ถ้อยคำหยาบ ใช้ความรุนแรงในการทวงถาม ซึ่งกรณีนี้หากเกิดผลกระทบต่อผู้ บริโภค ธนาคาร หรือสถาบันการเงินมีสิทธิจะปฏิเสธได้ เพราะบริษัททวงหนี้เป็นบุคคลอื่นใช่พนักงานในสถาบัน ซึ่งมีพันธผูกพันกับลูกหนี้
“นอกจากนี้ การคิดอัตราดอกเบี้ยที่ทางชมรม และภาคีเครือข่าย เห็นว่า รัฐบาลใหม่ควรเร่งแก้ปัญหา คือ การควบคุมมาตรการเก็บดอกเบี้ยอย่างเป็นธรรม โดยไม่ควรเกินร้อยละ 15 ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่เหมาะสมแล้ว เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสำหรับประชาชนทั่วไปซึ่งเฉลี่ยที่ร้อยละ 2 เท่านั้น แต่ปัจจุบันกลับไม่เป็นอย่างที่ควร เพราะธนาคารและสภาบันการเงินมักเอาเปรียบผู้บริโภคด้วยการบวกเพิ่มเงินอื่นๆ เช่น การบริการ การบวกค่าธรรมเนียมต่างๆ เข้ากับเงินดอกเบี้ยและเงินต้น ทำให้มีการเรียกเก็บหนี้ที่สูงเกินควร ทั้งนี้สำหรับการออกนโยบายให้ครอบคลุมต่อการแก้ปัญหาดังกล่าวนั้น พ.ร.บ.ทวงหนี้อย่างเป็นธรรม น่าจะเหมาะสมที่สุด” นายชูชาติ กล่าว