xs
xsm
sm
md
lg

กรมวิทย์พัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการชันสูตรทั่วประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
สำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ (สมป.) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผย จากการประเมินคุณภาพการตรวจวิเคราะห์ด้านชันสูตรสาธารณสุข พบว่า ห้องปฏิบัติการส่วนใหญ่มีผลอยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้ มีเพียงส่วนน้อยที่ผลไม่อยู่ในเกณฑ์ยอมรับ ชี้ อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ความบกพร่องของผู้ปฏิบัติงาน ความไม่พร้อมทางวิชาการ ขาดความชำนาญและเทคนิค ในการตรวจวิเคราะห์และการรายงานผล

นพ.สถาพร วงษ์เจริญ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ห้องปฏิบัติการด้านชันสูตรสาธารณสุข เป็นหน่วยงานที่ให้บริการตรวจวิเคราะห์ขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการค้นหาความผิดปกติของผู้ป่วยไปจนถึงการตรวจหาสาเหตุของโรค และการตรวจติดตามผลการรักษา เช่น การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count หรือ CBC)การตรวจตะกอนปัสสาวะ ตะกอนอุจจาระ การตรวจฟิล์มเลือด หาเชื้อปรสิตในเลือด การตรวจหาเชื้อแบคทีเรียด้วยการย้อมสีแกรม หรือย้อมสีทนกรดภายใต้กล้องจุลทรรศน์ การตรวจหาระดับสารต่างๆ ในร่างกาย เป็นต้น

การดำเนินการดังกล่าวผู้ปฏิบัติงานต้องมีความรู้ความชำนาญในการตรวจวิเคราะห์ และการรายงานผล แม้จะมีเครื่องมือและน้ำยา ให้เลือกใช้หลายชนิดก็ตาม ผู้ปฏิบัติงานต้องสามารถเลือกใช้ และเข้าใจวิธีการควบคุม คุณภาพเป็นอย่างดี ปัจจุบันระบบคุณภาพมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อทุกองค์กร โดยเฉพาะด้านการรักษาพยาบาล และการตรวจวิเคราะห์ด้านชันสูตรสาธารณสุขจำเป็นที่จะต้องมีผลการตรวจวิเคราะห์ที่รวดเร็ว มีความถูกต้อง แม่นยำเป็นที่เชื่อถือและยอมรับ ซึ่งจะนำไปสู่ระบบที่ดีและแพทย์สามารถนำผลการตรวจวิเคราะห์ไปใช้ในการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพตามมาตรฐานระดับชาติหรือระดับสากล

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า การประเมินคุณภาพ การตรวจวิเคราะห์ด้านชันสูตรสาธารณสุข เป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้วัดความสามารถ และศักยภาพของห้องปฏิบัติการได้เป็นอย่างดี กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ให้ความสำคัญในด้านคุณภาพการตรวจวิเคราะห์ของห้องปฏิบัติการ จึงมอบหมายให้สำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการดำเนินการโครงการประเมินคุณภาพการตรวจวิเคราะห์ จัดส่งวัตถุทดสอบให้ห้องปฏิบัติการ ที่เป็นสมาชิกทำการตรวจวิเคราะห์ปีละ 3 ครั้ง ใน 6 สาขา คือ สาขาจุลทรรศน์ศาสตร์คลินิก สาขาจุลชีววิทยาคลินิก สาขาเคมีคลินิก สาขาโลหิตวิทยา สาขาภูมิคุ้มกันวิทยาคลินิก และสาขาธนาคารเลือด ทำการประเมินคุณภาพโดยการเปรียบเทียบผลระหว่างห้องปฏิบัติการสมาชิกอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำผลการประเมินคุณภาพการตรวจวิเคราะห์ไปใช้ในการปรับปรุง และพัฒนาห้องปฏิบัติการต่อไป

นางสุวรรณา จารุนุช ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเสริมว่า จากการดำเนินการประเมินคุณภาพ การตรวจวิเคราะห์ที่สำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ ดำเนินการผ่านมามีห้องปฏิบัติการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เป็นสมาชิก 1,093 แห่งทั่วประเทศ จัดแบ่งเป็นห้องปฏิบัติการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ กรมการแพทย์ 17 แห่ง กรมสุขภาพจิต 10 แห่ง กรมควบคุมโรค 2 แห่ง กรมอนามัย 9 แห่ง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2 แห่ง โรงพยาบาลศูนย์ 31 แห่ง โรงพยาบาลทั่วไป 58 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 629 แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 7 แห่ง หน่วยงานภาครัฐนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 75 แห่ง และหน่วยงานภาคเอกชน 253 แห่ง ซึ่งห้องปฏิบัติการแต่ละแห่งมีผลการประเมินคุณภาพการตรวจวิเคราะห์แตกต่างกัน โดยห้องปฏิบัติการส่วนมากมีผลการประเมินคุณภาพการตรวจวิเคราะห์อยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้ มีเพียงส่วนน้อยที่พบว่าผลการประเมินคุณภาพการตรวจวิเคราะห์ไม่อยู่ในเกณฑ์ยอมรับ ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่ ความบกพร่องของผู้ปฏิบัติงานในการคัดลอกผลลงแบบรายงาน ความไม่พร้อมทางด้านวิชาการ ขาดความชำนาญและเทคนิคในการตรวจวิเคราะห์และการรายงานผล รวมถึงความรู้ความสามารถในการเลือกใช้วิธีการตรวจวิเคราะห์ หรือน้ำยาที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน เป็นต้น

ดังนั้น สำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการจึงได้ดำเนินการพัฒนาความรู้การประเมินคุณภาพการตรวจวิเคราะห์ให้แก่สมาชิก เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้ทักษะที่เกี่ยวข้อง กับการดำเนินงาน และใช้เป็นแนวทางในการพัฒนางานต่อไป ซึ่งเป็นการยกระดับการควบคุมคุณภาพมาตรฐานของห้องปฏิบัติการชันสูตรสาธารณสุขของไทยต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น