xs
xsm
sm
md
lg

ชวนพ่อ-แม่มือใหม่ ทำของเล่นฟื้นฟูเด็กพิการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แม่กำลังสอนให้ลูกเล่นของเล่น
โดย...สุกัญญา แสงงาม

“แม่ทำงานหนัก เพราะมีฐานะยากจน ทำให้ผมคลอดก่อนกำหนด มีปัญหาแขน ขา เกร็ง และลีบเล็กผิดปกติจากเด็กทั่วไป จนอายุ 4 ขวบ “ปู่ไพ” จึงคิดทำอุปกรณ์ของเล่นเพื่อช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพให้ผม เพราะหมอบอกว่าไม่มียารักษา ปู่ทำของเล่น เช่น ม้าไม้ รถแบ็กโฮ รถมู่เล่ ครกกระเดื่อง ราวฝึกเดิน บันได คราด พิณ หมากปิ่น และทำมาเรื่อยๆ จนมีของเล่น 21 ชิ้น” สุริยา สมสีลา หรือ ปอ ซึ่งพิการแขนขาลีบ เล่าประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ก่อนจะเป็นเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ ในฐานะวิทยากรในการอบรมพ่อแม่มือใหม่ของเด็กพิการ

สุริยา เล่าต่อว่า ของเล่นที่ปู่ทำให้อย่างม้าไม้ ก็ช่วยทำให้ขาที่บิดงอเข้าหากัน มีอาการดีขึ้น ประมาณ 2 เดือน ขาเริ่มกระดิกได้ หมากปิ่น หรือ ใบพัด ช่วยสร้างกำลังแขนและไหล่ เพราะต้องใช้ฝ่ามือและนิ้วมือ โดยต้องกำมือแล้วออกแรงดึงเชือกเพื่อให้ใบพัดหมุน ครกกระเดื่อง ที่ช่วยสร้างกำลังขาเวลาเหยียบ เครื่องเล่นที่ปู่ทำให้ช่วยฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ รวมทั้งการใช้สายตา

สุริยา เชื่อว่า การฟื้นฟูเด็กพิการ สิ่งที่ดีที่สุด คือ พ่อแม่ สมาชิกในครอบครัว หรือคนใกล้ชิด ก่อนจะพาไปหาหมอ ปัจจุบันเราพบเด็กพิการส่วนใหญ่เป็นเด็กต่างจังหวัดและยากจน การเข้าถึงแพทย์ค่อนข้างยาก มูลนิธิฯเข้าไปให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูเด็กพิการให้สามารถช่วยเหลือตนเองและอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข โดยจัดอบรมเสริมความรู้ผู้ปกครองเด็กพิการในการเลี้ยงดูและฟื้นฟูสมรรถภาพเด็ก

เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ บอกอีกว่า ขณะนี้มีศูนย์เรียนรู้ฟื้นฟูเด็กพิการโดยครอบครัว ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของผู้ปกครองเด็กพิการ ทางมูลนิธิฯใช้นวัตกรรมของเล่นมากระตุ้นพัฒนาให้กับเด็กพิการ คือ จะวิเคราะห์เด็กแต่ละคนว่าเหมาะสมกับของเล่นชนิดไหน เนื่องจากเด็กแต่ละคนมีปัญหาต่างกันออกไป ถ้าเด็กมีปัญหา ขา หรือต้องการฝึกเดิน จะทำรถเลื่อน ใช้ในการฝึกเดิน เมื่อเด็กเริ่มเดินคล่องขึ้นจะทำราวจับให้เด็กฝึกเดิน หรือมีปัญหาด้านสมอง จะใช้ของเล่นพัฒนาความจำ

“การทำของเล่นเพื่อฟื้นฟูเด็กพิการ จะใช้วัสดุอุปกรณ์ในท้องถิ่นมาประดิษฐ์เป็นของเล่น จะได้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โดยเราจะมีเจ้าหน้าที่มูลนิธิ สอนวิธีการทำของเล่นให้แก่พ่อแม่ อย่างไรก็ดี ของเล่นจะมีประโยชน์ต่อเมื่อพ่อแม่เล่นกับลูก สร้างความใกล้ชิด ลูกสามารถสัมผัสได้ถึงความรัก” สุริยา กล่าว

สุริยา กล่าวด้วยว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พยายามดึงเด็กพิการเข้าสู่ระบบการศึกษา โดยไม่ได้คำนึงถึงว่าเด็กพร้อมเข้าเรียนหรือไม่ ยอมรับว่า เด็กเข้าระบบการศึกษา ซึ่งเป็นการกระตุ้นพัฒนาการด้านความจำ เน้นวิชาการ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่มีคือการเตรียมความพร้อม หรือฟื้นฟูความพิการของเด็กเหล่านี้ ขอแนะนำพ่อแม่ที่ส่งลูกเรียนในระบบต้องมั่นฟื้นฟูร่างกายหรือกล้ามเนื้อด้วย ถ้ากล้ามเนื้อแข็งแรงเชื่อว่าพัฒนาการด้านสมองย่อมดีตามไปด้วย

ด้าน สุวัฒนา ประภาศรัย แม่น้องปภังกร งามขำ วัย 4 ขวบ มีปัญหาด้านสมองตั้งแต่เกิด สุวัฒนา บอกว่า เธอเข้ารับการอบรมการดูแลและฟื้นฟูลูกจากมูลนิธิฯมาอย่างต่อเนื่อง พยายามสังเกตพฤติกรรมของลูกจะได้รู้ว่าเขาต้องการอะไร แม้ว่าลูกจะรับรู้ช้ากว่าเด็กวัยเดียวกันก็ตาม เธอก็พยายามทุกวิถีทางในการฟื้นฟูพัฒนาการของลูก ไม่ว่าจะเป็นร่างกาย และสมอง

เข้าร่วมกิจกรรมทำของเล่นให้ลูก หวังฟื้นฟูกล้ามเนื้อแขน ขา ช่วงแรกๆ ลูกหยิบจับไม่เป็น จับใส่มือแล้วเขย่า ทำอย่างนี้บ่อยๆ เหมือนลูกรู้ว่าจะต้องจับตรงไหน วันหนึ่งเขาหยิบของเล่นมาเขย่าด้วยตัวเองแต่แค่แป๊บเดียว เธอถึงกับน้ำตาไหลทีเดียว นอกจากนี้จะพยายามคุย เล่นกับลูกบ่อยๆ เท่าที่จะทำได้” สุวัฒนา ตั้งปฏิญาณไว้ว่าจะพยายามทำทุกวิธีเพื่อกระตุ้นพัฒนาการร่างกายและสมอง
กำลังโหลดความคิดเห็น