xs
xsm
sm
md
lg

เขตปทุมวันรื้อแผงเหล็กรอบสยามสแควร์แล้ว วอนจุฬาฯ ใช้ กม.บังคับ ในฐานะเจ้าของพื้นที่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
เขตปทุมวัน รื้อแผงเหล็กรอบสยามสแควร์แล้ว เตรียมประชุมพรุ่งนี้ เพื่อดำเนินการดูแลรอบพื้นที่ หลังสำนักงานทรัพย์สิน จุฬาฯ ขอให้ดูแลรอบพื้นที่จนถึงห้าทุ่ม แต่เขตสามารถดูแลได้ถึงหนึ่งทุ่ม วอนทางจุฬาฯ ใช้ กม.บังคับ ในฐานะเจ้าของพื้นที่ แนะทุกหน่วยงานต้องร่วมดูแลไม่ใช่ กทม.ฝ่ายเดียว คาดมีความชัดเจนไม่เกิน 2 สัปดาห์
 

วันนี้ (12 มิ.ย.) นางภาวิณี อามาตย์ทัศน์ ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน เปิดเผยความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาผู้ค้าหาบเร่ แผงลอยที่ใช้พื้นที่บริเวณทางเท้าย่านสยามสแควร์เป็นที่ค้าขาย ว่า ล่าสุด เมื่อวันพุธที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มทำการรื้อถอนแผงโครงเหล็กสำหรับตั้งวางต้นไม้บริเวณทางเท้าริมถนนพระราม 1 ตั้งแต่แยกเฉลิมเผ่าถึงถนนพญาไท (จุฬาฯ ซอย 7) ตามที่ กทม.ขอความร่วมมือ

หลังได้รับแจ้งจากสำนักการโยธา กทม.ให้สำนักงานเขตเจ้าของพื้นที่ประสานกับผู้ที่นำมาติดตั้งให้เร่งรื้อถอน เนื่องจากส่งผลกระทบและเป็นอันตรายต่อประชาชนที่สัญจรไปมา ตลอดจนผู้ใช้รถใช้ถนน เบื้องต้น ทาง สนง.ทรัพย์สิน จุฬาฯ ได้ประสานกรมราชทัณฑ์ ส่งนักโทษชั้นดีมาช่วยในการดำเนินการ ทั้งนี้ งานคืบหน้าและแล้วเสร็จตลอดแนวรวมระยะทางประมาณ 500 เมตรเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (10 มิ.ย.) ซึ่งทางเขตได้ส่งเครื่องมือและเจ้าหน้าที่เข้าทำความสะอาดพื้นที่เมื่อวานนี้ (11 มิ.ย.)              

นางภาวิณี กล่าวว่า สำหรับมาตรการและแผนการจัดระเบียบผู้ค้าหาบเร่-แผงลอยในพื้นที่ดังกล่าว ภายหลังปรับปรุงพื้นที่-ทำความสะอาดทางเท้าแล้วนั้น จะมีการเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นการภายใน กทม.เพื่อหารือร่วมกันอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ (13 มิ.ย.) ก่อนจะนัดประชุมกับทาง สนง.ทรัพย์สินจุฬาฯ ให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุด ซึ่งคาดว่าน่าจะมีความชัดเจนภายใน 1-2 สัปดาห์นับจากนี้ อย่างไรก็ตาม กทม.มีความจำเป็นต้องขอความร่วมมือกับทางจุฬาฯ ให้บังคับใช้กฎหมายต่างๆ รวมทั้ง พ.ร.บ.ความสะอาดฯ อย่างเคร่งครัดด้วย ในฐานะที่อ้างกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของพื้นที่มาโดยตลอด 

ทั้งนี้ คาดว่า จะเริ่มผลักดันผู้ค้าเป็นระยะๆ หรือแบ่งโซนไปจนหมด นอกจากนี้ ยังจะต้องมีการหารือเรื่องการใช้กำลังเจ้าหน้าที่เทศกิจที่ทางเขตมีแค่ประมาณ 70 คนที่จะต้องดูแลทั้งเขต และในส่วนของพื้นที่สยามสแควร์เจ้าหน้าที่สามารถดูแลได้ถึง 19.00 น.เท่านั้น แต่ทางจุฬาฯ จะขอให้ดูแลถึงเวลา 23.00 น.ซึ่งไม่สามารถทำได้ จึงขอให้ทางจุฬาฯ ดูการควบคุมพื้นที่ของห้างที่ใกล้เคียงอย่าง สยามพารากอน หรือห้างมาบุญครอง ที่ทางบริษัทได้มีการจ้างเวรยามมาดูแลพื้นที่ของตัวเองเป็นพิเศษ ทำให้ไม่มีผู้ค้ากล้าเข้ามาขายของ ทางผู้ที่เกี่ยวข้องต้องให้ความร่วมมือทั้งทางจุฬาฯ และตำรวจ ไม่ใช่ กทม.ดำเนินการแต่เพียงผู้เดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น