xs
xsm
sm
md
lg

สานสายใยรักแห่งครอบครัว ชวนเล่านิทาน อ่าน และเล่นกับลูก...

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เด็กๆ ให้ความสนใจในการฟังนิทานของพ่อแม่
โดย...คุณวัตร ไพรภัทรกุล

เด็กจะเติบโตเป็นคนดีได้ ต้องผ่านเบ้าหลอมที่ดี ไม่ต่างอะไรกับพ่อแม่และครอบครัวที่มีหน้าที่ปลูกฝังสิ่งดีๆ ให้เหมาะสมกับช่วงเวลาที่เด็กควรจะได้รับ ผ่านทางความสัมพันธ์ร่วมกันภายในครอบครัว แต่จากสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันทำให้สถาบันครอบครัวขาดความเข้มแข็ง โครงการเล่านิทาน อ่าน และเล่นกับลูกภายใต้โครงการสายใยรักแห่งครอบครัว โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จึงเกิดขึ้น

สำหรับโครงการนี้จะมุ่งเน้นที่เด็กอายุไม่เกิน 6 ปี เริ่มจากทีมงานของสถาบันรักลูกที่ทำงานร่วมกับทางกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ลงพื้นที่ไปตามแต่ละจังหวัดเพื่ออบรมคนในพื้นที่ที่สนใจเข้าร่วมเป็นวิทยากรขบวนการ ซึ่งวิทยากรขบวนการที่ผ่านการอบรมและร่วมกิจกรรมแล้ว จะมีหน้าที่ให้ความรู้และคำปรึกษาแก่ผู้ปกครองในพื้นที่นั้นๆ ในการปลูกฝังการเล่านิทาน การอ่านและทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว จากนั้นทางทีมงานจะเดินสายไปตามจังหวัดต่างๆ เพื่อสร้างวิทยากรโครงการในทุกๆ จังหวัดครอบคลุมทั้งประเทศ เพื่อให้แต่ละพื้นที่มีองค์ความรู้ในการปลูกฝังกิจกรรมเหล่านี้ให้กับครอบครัวในพื้นที่ต่อไป ซึ่งปีที่ผ่านมาวิทยากรขบวนการสามารถไปสร้างการเรียนรู้ให้กับพ่อแม่ ผู้ปกครองในชุมชนไปแล้วไม่น้อยกว่า 2,000 ครอบครัว

นายปกรณ์ พันธุ อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กล่าวถึงวิทยากรกระบวนการ ว่า เป็นหัวใจหลักของโครงการนี้ โดยเราเน้นอบรมและพัฒนาในเรื่องความรู้ ทักษะ และทัศนคติ ว่าเด็กควรจะได้รับการปลูกฝังอะไร ด้วยวิธีไหน ซึ่งวิทยากรกระบวนการจะมีความหลากหลายแตกต่างกันไปตามพื้นที่ เราจึงต้องมีมาตรฐานที่เป็นกรอบหรือแนวคิดหลักด้วย โดยจะเน้นกระบวนการที่ง่ายๆ เพราะหากยากจะทำไม่สำเร็จ แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ทุกอย่างสำเร็จได้ต้องขึ้นอยู่กับเวลา เวลาที่ครอบครัวต้องมีให้กัน

โดยโครงการนี้ได้ริเริ่มตั้งแต่ปี 2552 ในพื้นที่ศูนย์ 3 วัย สานสายใยรักแห่งครอบครัว นำร่องใน 8 จังหวัด และขยายพื้นที่เพิ่มอีก 11 จังหวัด ในปี 2553 รวมเป็น 19 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน อุตรดิตถ์ มหาสารคาม กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา อุทัยธานี นครปฐม อ่างทอง สมุทรปราการ ราชบุรี กรุงเทพฯ ระยอง ชลบุรี นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และสงขลา

นายปกรณ์ ยกตัวอย่างว่า มีเด็ก 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้ดูเรื่องหนูน้อยหมวกแดงผ่านทางดีวีดี กลุ่มที่สอง ให้พ่อแม่เล่านิทานเรื่องหนูน้อยหมวกแดงให้ฟัง ผลปรากฏว่า เด็กกลุ่มแรกเกือบทั้งหมดจะเล่าเรื่องออกมาคล้ายๆ กันตามสิ่งที่ได้ดูผ่านทางจอโทรทัศน์ แต่เด็กอีกกลุ่มนั้น เล่าออกมาแตกต่างกันไปตามจินตนาการ ผ่านทางการเล่าเรื่องของพ่อแม่แต่ละคน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่จะต้องปลูกฝังสิ่งต่างๆ ทั้งความคิด ความดี และที่สำคัญคือจินตนาการ ให้กับเด็กในช่วงวัยนี้ เพราะเด็กในช่วงวัยไม่เกิน 3 ขวบ เป็นวัยที่เซลล์สมองอยู่ในช่วงพัฒนา ถ้าเกินกว่านี้ก็ถือว่าสายแล้ว

“อีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือ ที่จังหวัดอุทัยธานี มีลูกของวิทยากรขบวนการคนหนึ่งไม่ยอมพูด เขาจึงนำสิ่งที่ได้รับอบรมมามาปรับใช้ ด้วยการเล่านิทานให้ฟัง ทำซ้ำๆ อย่างนั้นทุกวัน แล้วการเล่านิทานก็ไม่จำเป็นต้องซื้อหนังสือนิทานแพงๆ แต่เล่าเรื่องด้วยกระดาษแผ่นเดียวหรือที่เรียกว่านิทานทำมือ คือ การวาดรูปขึ้นมาในกระดาษแล้วเล่าให้เด็กเกิดจินตนาการ หลังจากนั้นไม่นานเด็กคนนั้นก็พูด” นายปกรณ์ กล่าว

ทั้งนี้ ในปี 2554 จะมีการขยายการดำเนินการในการสร้างวิทยากรกระบวนการออกไปอีก 11 จังหวัด รวมเป็น 30 จังหวัด และภายในปี 2555 ตั้งเป้าจะขยายไปให้ครบทั้งประเทศ รวมทั้งในอนาคตจะขยายการดำเนินกิจกรรมไปสู่เด็กวัย 7-9 ปี โดยมุ่งเน้นให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งรอบตัวผ่านการลงมือทำ(Learning by doing)

นายปกรณ์ ทิ้งท้าย อย่างน่าสนใจว่า อย่างที่ไอน์สไตน์เคยกล่าวไว้ว่า “ถ้าอยากให้เด็กฉลาดต้องเล่านิทานให้ฟัง ถ้าอยากให้เด็กฉลาดมากขึ้นก็ต้องเล่านิทานให้ฟังมากขึ้น” นอกจากนิทานจะสอนให้เด็กฉลาดแล้ว นิทานทุกเรื่องยังสอนให้ผู้เล่ารู้ว่า นิทานไม่ได้สำคัญที่สุด แต่เวลาในการอยู่ร่วมกันสำคัญที่สุด

ขณะที่ นางชวนพิศ สุรีย์แสง ผู้ปกครองรายหนึ่งที่ได้รับการอบรมจากวิทยากรขบวนการ กล่าวว่า เริ่มเล่านิทานให้ลูกฟังตั้งแต่อายุ 4 เดือน จนตอนนี้เกือบ 4 ขวบแล้ว ก็ยังเล่าให้ฟังอยู่ โดยจะเล่าช่วงก่อนนอนทั้งกลางวันและกลางคืน ใช้หนังสือนิทานหลายๆ แบบ ทั้งแบบธรรมดาและแบบ 3 มิติ เนื้อหาหลากหลาย พอเล่าจบก็จะคอยถามเขาถึงเนื้อหาที่ได้เล่าไป จะไม่ค่อยให้ดูโทรทัศน์ เพราะคิดว่าทำให้ลูกเราสมาธิสั้น

หลังจากเล่านิทาน คิดว่า ลูกจดจำอะไรได้ดี เข้าใจภาษาได้เร็ว อยากแนะนำให้เล่านิทานให้ลูกฟังบ่อยๆ ควรมีเวลาให้ลูก เพราะนอกจากเราจะสามารถปลูกฝังความคิดด้านจริยธรรมแล้ว เรายังได้กอด อุ้ม และใกล้ชิดลูก ทำให้เราและลูกรู้สึกอบอุ่นผ่านทางความสัมพันธ์เหล่านี้” นางชวนพิศ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น