xs
xsm
sm
md
lg

ชำแหละโทรคมไทยล้าหลัง (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือ บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต ได้กลายเป็นดัชนีวัดความเจริญก้าวหน้าของประเทศและคุณภาพชีวิตของประชากรภายในประเทศ โดยเฉพาะการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารไปแล้ว

จากการรายงานสถานการณ์อุตสาหกรรมโทรคมนาคมเฉพาะในภูมิภาคเอเชียที่ มาร์ค ไอน์สไตน์ (Marc Einstein) หัวหน้าทีมวิเคราะห์ตลาดโทรคมนาคมในเอเชียแปซิฟิกของฟรอสต์แอนด์ซัลลิแวน ระบุว่า ดัชนีที่บ่งบอกว่า ประเทศใดก้าวเข้าสู่โลกดิจิตอลมากเพียงใดนั้น ดูได้จากจำนวนครัวเรือนที่เข้าถึงบรอดแบนด์ กับจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ ซึ่งในประเทศที่เจริญแล้วอย่างสิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย จะมีสัดส่วนการใช้งานทั้งสองอยู่ในอัตราส่วนที่สูง ซึ่งประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มีสัดส่วนผู้ใช้โทรศัพท์มือถืออยู่ในเกณฑ์ที่สูงถึง 90-120% แต่กลับมีจำนวนผู้ใช้บรอดแบนด์ไม่ถึง 3% ทำให้ประเทศไทยจึงยังจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา

'เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า ถ้าดูเฉพาะจำนวนผู้ใช้ซิมมือถือที่เป็น 2G ของไทย ปัจจุบัน มีเกินกว่า 100% หรือเกินจำนวนประชากรทั้งประเทศที่มีประมาณ 67 ล้านคน ขณะที่สัดส่วนของผู้ที่มีมือถือมีถึง 86-87% ซึ่งถือว่า ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก'

ถ้าหากดูผลการวิจัยที่ระบุว่า กลุ่มประเทศที่อยู่ในตลาดที่เจริญแล้ว มักจะเป็นประเทศที่มีอัตราของซิมต่อครัวเรือนในประเทศมากกว่า 50% ขึ้นไป มักจะมีอัตราการใช้งานบรอดแบนด์ในอัตราที่สูงด้วย แต่สำหรับประเทศไทยกลับตรงกันข้าม

ประเทศไทยมีจำนวนครัวเรือนในประเทศที่สามารถเข้าถึงบรอดแบนด์เพียง 8% เท่านั้น ซึ่งถือว่าล้าหลังมาก มีเพียง 3 ประเทศเท่านั้นที่ประเทศไทยยังนำหน้าอยู่คือปากีสถาน อินโดนีเซีย อินเดีย

'มาร์ค' อธิบายปรากฏการณ์นี้ว่า เป็นผลมาจากการชะลอตัวการลงทุนทางด้านเครือข่ายของบริษัท ทีโอที บริษัท กสท โทรคมนาคม บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น รวมไปถึง บริษัท ทีทีแอนด์ที แทนที่จะมีการขยายพื้นที่การให้บริการออกไปตามต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น กลับลงทุนในเรื่องของการเพิ่มความเร็วในโหนดที่ให้บริการมากกว่า หากเทียบกับการเติบโตของจำนวนผู้ใช้มือถือ 2G กลายเป็นคนละเรื่องกันเลย ประเทศไทยนำหน้าประเทศใหญ่อย่างจีน อินเดีย อินโดนีเซีย พิลิปปินส์ แต่ไม่ได้ทำให้ประเทศไทยยกระดับตัวเองขึ้นมาเป็นประเทศที่เจริญแล้วได้เลย

จากการที่ประเทศไทยมีความล้าหลังในธุรกิจโทรคมนาคม ทั้งๆ ที่เมื่อ 14 ปีที่แล้ว ความก้าวหน้าทางด้านโทรคมนาคมถือว่าไม่ได้ด้อยไปกว่าใครในภูมิภาค แถมยังดูเหมือนจะล้ำหน้ากว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ด้วยซ้ำไป เมื่อมีการระบุไว้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับเรื่อง 'คลื่นความถี่' ว่าเป็นสมบัติของชาติ ใส่ไว้ในกฎหมายสูงสุดของประเทศ ซึ่งจะมีกฎหมายลูกที่ออกมาเพื่อเรื่องนี้โดยเฉพาะตามมาด้วยองค์กรอิสระที่จะมาดูแล

แต่นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ 'มาร์ค' ระบุว่า เป็นสาเหตุที่ทำประเทศไทยมีความล้าหลังในธุรกิจโทรคมนาคมกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ณ วันนี้

นักวิเคราะห์ของฟรอสต์แอนด์ซัลลิแวนยังระบุอีกว่า การที่ตลาดโทรคมนาคมของประเทศไทยยังไปไม่ถึงไหน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี 3G หรือบริการบรอดแบนด์ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ประเทศไทยถึงแม้จะมีองค์กรอิสระที่กำกับดูแลบริการกิจการโทรคมนาคมแล้วก็ตาม แต่กลับไม่มีอำนาจในการควบคุมที่ชัดเจนพอที่จะบังคับให้เป็นไปตามกรอบนโยบายหรือกฎเกณฑ์ที่กำหนดเอาไว้ ซึ่งแตกต่างจากในประเทศอื่นที่มีอิสระทั้งทางด้านนโยบายและอำนาจในการบังคับใช้กฎเกณฑ์ต่างๆ

'ปัญหานี้แตกต่างจากประเทศอื่น ตรงที่ประเทศไทยที่มาที่ไปไม่เหมือนกัน ซึ่งเป็นผลจากที่ทั้งสองรัฐวิสาหกิจ ทีโอทีและกสท ทั้งสองหน่วยงานเดิมเป็นผู้กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม เป็นเจ้าของสัมปทาน แต่หลังจากมีคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กทช. เข้าทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแลแทน ทำให้บทบาทของทั้งสองหน่วยงานเปลี่ยนแปลง ขณะที่ปัญหาเรื่องสัมปทานซึ่งเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทำให้เกิดปัญหาตามมา'

อีกสาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยไม่คืบหน้า ก็คือ การเปิดโอกาสเข้าถึงบรอดแบนด์ของคนในต่างจังหวัด ทั้งๆ ที่ประเทศไทยควรที่จะมีการใช้งานบรอดแบนด์ตามบ้านมากกว่านี้ เพราะในประเทศที่เจริญูแล้วจะมีจำนวนผู้ใช้บรอดแบนด์ในครัวเรือนเกิน 30% ขึ้นไป แต่แนวโน้มน่าจะดี เมื่อภาครัฐมีแผนที่จะผลักดันบรอดแบนด์แห่งชาติออกมาในเร็วๆ นี้

เมื่อดูจากสภาพโดยรวมถึงแม้สถานการณ์ทางด้านกิจการโทรคมนาคมของประเทศไทยดูไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาประเทศเท่าไรนัก แต่ มาร์ค ไอน์สไตน์ ยังให้ความหวังโดยเชื่อว่าประเทศไทยในอีก 4 ปีข้างหน้า น่าจะสามารถมีจำนวนผู้ใช้บรอดแบนด์เกิน 50% ได้ โดยมีเครือข่าย 3G เป็นเครือข่ายที่เข้ามาเสริมการขยายพื้นที่ให้บริการบรอดแบนด์ผ่านเคเบิลใยแก้วในลักษณะของการเชื่อมต่อดีไวซ์ที่อยู่ในมือของผู้ใช้ตามบ้านได้มีโอกาสใช้โมบายบรอดแบนด์แทน โดยคาดว่าจะมีสัดส่วนถึง 80%ของเครือข่ายบรอดแบนด์ที่มีอยู่ ซึ่งเปรียบเสมือนทางลัดที่ทำให้ประเทศไทยสามารถก้าวสู่ประเทศที่เจริญแล้วได้

มาร์คยังวิเคราะห์ต่อไปอีกขั้นหนึ่งว่า หากปัญหาเรื่องเครือข่ายบรอดแบนด์จบลง ก็จะเห็นความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีในประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งเทคโนโลยีแรกที่คิดว่า จะเกิดขึ้นในประเทศไทยก็คือ e-Learning ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถกระจายการศึกษาไปยังต่างจังหวัดได้อย่างรวดเร็ว

การแพทย์ทางไกล จะเป็นอีกเทคโนโลยีที่จะเกิดตามมา จะเห็นการรักษาโรคจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในเมืองผ่านคลินิกในต่างจังหวัดที่มีเพียงจอภาพแบบ HD

เมื่อเครือข่ายโทรคมนาคมของประเทศไทยก้าวเข้าสู่โลกของไอพีสมบูรณ์แบบ ก็อาจจะเห็นการรับข้อมูลข่าวสารผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ผ่านเครือข่ายโทรคมนาคมที่มีอยู่มากขึ้น ไม่ได้จำกัดอยู่ว่าจะต้องเป็นมือถืออีกต่อไป จะเห็นสมาร์ทดีไวซ์ในรูปแบบต่างๆ ออกมาจำนวนมาก ซึ่งทางอเมซอนได้พัฒนาอุปกรณ์อีบุ๊กของตนเองให้ดาวน์โหลดเพื่ออัปเดทข้อมูลใหม่ๆ โดยอัตโนมัติผ่านเครือข่าย 3G ในรูปแบบของเอ็มวีเอ็นโอโดยทางอเมซอนซื้อเหมาแอร์ไทม์มาให้บริการกับผู้ใช้โดยตรง ไม่ต้องซื้อผ่านโอเปอเรเตอร์อีกต่อไป

การที่จะเห็นประเทศไทย เห็นคนไทยติดอาวุธทางข้อมูลข่าวสารด้วยบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นการใช้ผ่านเครือข่ายแบบมีสายหรือไร้สายนั้น คงต้องฝากความหวังไว้กับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น