โดย...รัชญา จันทะรัง
ใครจะไปรู้ว่าในวันหนึ่ง “เขายายดา” ที่มีตำนานเล่าขานต่างๆ นานา จะกลายมาเป็นพื้นที่ปอดขนาดยักษ์ของคนระยอง โดยที่ก่อนหน้านี้ผืนป่าบนเขายายดาต้องเผชิญวิกฤติป่าและน้ำมากมายมายทั้งถูกบุกรุกเพื่อทำสวนยาง สวนผลไม้ ไร่มันสำปะหลัง หรือแม้แต่การบุกรุกพื้นที่เพื่อใช้ทำนาข้าวสลับกันไปมาตามราคาขึ้นลงของพืชผลในท้องตลาด จนท้ายที่สุดเขายายดาได้กลายเป็นพื้นที่แห้งแล้งใจกลางเมืองระยอง
ชานนท์ ธิบำรุง สมาชิกสภาจังหวัดระยอง ผู้ริเริ่มโครงการสร้างฝายชะลอน้ำ เล่าถึงที่มาของการเริ่มฟื้นฟูสภาพป่าแห่งนี้ว่า ในปี 2547 ได้มีการสำรวจจากกรมป่าไม้แล้ว ปรากฏว่า พื้นที่ป่าบนเขายายดามีความแห้งแล้ง ต่อมาตนเองมีโอกาสไปเรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ศูนย์การศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ จ.เชียงใหม่ซึ่งเป็นการเรียนรู้ถึงการสร้างฝายชะลอน้ำจากนั้นจึงได้นำแนวพระราชดำรินี้มาหารือร่วมกับชาวบ้านซึ่งชาวบ้านก็เห็นชอบจึงได้นำงบประมาณจำนวน 2 ล้านบาทขององค์การบริหารส่วนจังหวัดระยองมาใช้ในการก่อสร้างฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริเป็นครั้งแรกที่เขายายดาซึ่งครั้งนั้นสร้างฝายได้ถึง 42 ตัวในปี 2549
“ต่อมาเราเห็นทางเอสซีจีโฆษณาให้ร่วมกันสร้างฝายเราก็เลยติดต่อไปเพราะผลที่เราได้จากการสร้างฝายครั้งแรกได้ผลดี เราจึงอยากดำเนินการต่อซึ่งใช้เวลาเพียง 3 เดือนทางเอสซีจี เคมิคอลส์ก็ได้ติดต่อมาพร้อมกับให้งบประมาณสนับสนุนครั้งแรกปี 2550 เพื่อสร้างฝายชะลอน้ำจำนวน 400 ตัว ให้กับ 10 ตำบล 6 หมู่บ้านรอบเขายายดาโดยที่ชาวชุมชนมีส่วนร่วมกับพนักงานของทางเอสซีจีเคมิคอลส์ด้วยจึงทำให้การสร้างฝาย 400 ตัวสำเร็จในเดือนมกราคม 2551 จากที่เริ่มโครงการเดือนกันยายน 2550”
ชานนท์ สะท้อนถึงความสำเร็จของการนำแนวโครงการพระราชดำริ มาดำเนินการตามรอยที่จะต่อยอดชีวิตให้กับผืนป่า ต่อลมหายใจกับชาวชุมชนว่า เชื่อว่าถ้าสร้างฝายครบ 5,000 ฝายเมื่อไหร่จะช่วยชะลอการไหลของน้ำ คืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับผืนป่าเพราะที่เราทำมา 7 ปีป่าของเรากลับมาได้ 80% แล้ว ดังนั้นไม่เกิน 3 ปี เขายายดาจะมีความอุดมสมบูรณ์ 100% แน่นอน
ขณะที่ ชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เคมิคอลส์ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบันทางบริษัทฯได้สนับสนุนการสร้างฝายชะลอน้ำไปแล้วจำนวน 1,200 ฝาย และเราตั้งเป้าที่จะสร้างฝายชะลอน้ำที่เขายายดาให้ครบ 5,000 ฝายภายในปี 2556 โดยใช้งบประมาณ 15.2 ล้านบาท ซึ่งล่าสุดได้จัดกิจกรรม “สร้างฝายกับ SCG คืนชีวีให้เขายายดา” เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2554 ปรากฏว่า ด้วยการรวมพลังของทุกภาคส่วนร่วม 2,000 คนสามารถสร้างฝายเพิ่มได้อีก 200 ฝายจากเป้าที่ตั้งไว้ 170 ฝาย รวมเป็น 1,400 ฝาย ทั้งนี้ได้มีการกำหนดแผนการสร้างฝายให้ได้เดือนละ 100 ฝาย หรือ 1,200 ฝายต่อปี
“เราไม่ได้ทำให้แค่ป่าชุ่มชื้นอย่างเดียวแต่เรายังทำให้คนชุ่มชื้นไปด้วยเพราะจากผืนป่าที่เป็นสีน้ำตาล เกิดไฟป่า และขาดแคลนน้ำแต่หลังจากที่มีการสร้างฝายอย่างจริงจังก็ส่งผลให้เขายายดากลายเป็นผืนดินที่ชุ่มชื้นเขียวขจีจนมีคำเรียกขานว่าเป็นปอดขนาดใหญ่ให้กับคนระยองที่ช่วยดูดซับอากาศเสียและฟอกอากาศบริสุทธิ์ให้กับร่างกาย อีกทั้งยังเป็นแหล่งเก็บกักน้ำทางธรรมชาติที่สำคัญให้กับชาวบ้าน 10 ตำบล 6 หมู่บ้านสามารถทำเกษตรกรรมได้อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ก็ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนอีกทางหนึ่ง” ชลณัฐ สะท้อนภาพ
และไม่ว่าเขายายดาจะมีตำนานของชื่อที่ผิดเพี้ยนมาจากยายด่าตา จากการเล่าขานของคนหลายยุคหลายสมัยสืบต่อกันมา แต่ต่อไปนี้เขายายดาก็จะมีตำนานใหม่เกิดขึ้นนั้นก็คือตำนานการคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับผืนป่าแห่งเมืองระยองที่จะส่งต่อให้กับลูกหลานในรุ่นต่อๆ ไปนั้นเอง