xs
xsm
sm
md
lg

ประกาศ 9 อำเภอเมืองตากเป็นเขตภัยแล้ง วัว 3 แสนตัวขาดน้ำ-หญ้า “ทีลอซู” ใกล้วิกฤต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จ.ตาก มีการเลี้ยงวัวมากที่สุดในประเทศไทย ตอนนี้กำลังได้รับผลกระทบหนักจากการขาดแคลนน้ำและอาหาร  จากปัญหาภัยแล้ง
ตาก -พ่อเมืองตากประกาศ 9 อำเภอ เป็นพื้นที่ภัยพิบัติภัยแล้ง เร่งระดม จนท.ช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวกว่า 300,000 ตัว ที่กำลังขาดแคลนน้ำ-หญ้า ขณะที่ “ทีลอซู” ส่งสัญญาณระดับน้ำลดลงต่อเนื่อง หลังชาวบ้านรุกป่าเหนือน้ำตกหนัก จี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานอย่างจริงจังมากขึ้น

นายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งในช่วงเข้าฤดูฤดูร้อนและแล้งในปี 2554 ว่าขณะนี้ได้ประกาศให้ 9 อำเภอ(อ.เมือง แม่สอด บ้านตาก สามเงา วังเจ้า แม่ระมาด พบพระ ท่าสองยางและ อ.อุ้มผาง) เป็นพื้นที่ภัยพิบัติภัยแล้งแล้ว เพราะประชาชนเดือดร้อนอย่างหนัก สภาพอากาศร้อน-แล้ง ขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ ประกอบกับต้องระเฝ้าเรื่องไฟป่าที่ส่อเค้าจะเพิ่มทวีรุนแรงกว่าทุกปี จากสภาพอากาศที่ร้อนและแล้งเร็วกว่าปกติ

ผู้ว่าราชการจังหวัดตากบอกว่า จ.ตากมีกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคมากที่สุดในประเทศ โดยมีจำนวนกว่า 300,000 ตัว แต่ตอนนี้ต้องประสบปัญหนักและรุนแรง ขาดแคลนน้ำ-หญ้า โดยเฉพาะในพื้นที่อ.เมือง บ้านตาก สามเงา และ อ.วังเจ้า กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวต้องนำวัวเดินทางเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร เพื่อไปหาแหล่งน้ำและหญ้า

เบื้องต้นได้เร่งให้การช่วยเหลือเบื้องต้น โดยสั่งกำชับให้นายอำเภอทุกอำเภอรวมทั้งผู้บริหารท้องถิ่นขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ได้เร่งสร้างฝายกันน้ำเพื่อกักเก็บน้ำให้มากที่สุดเพื่อใช้ในการทำเกษตรและเลี้ยงวัว ด้วยการนำกระสอบปุ๋ยไปแจกเพื่อนำไปสร้างฝายกั้นน้ำในแต่ละหมู่บ้าน

แต่ในระยะยาว ตนเห็นว่ารัฐบาลควรกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการดูแลป่าไม้-ทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาต้นน้ำลำธารให้ท้องถิ่นดูแล รวมทั้งการดับไฟป่าอย่างจริงจัง เพราะเชื่อว่าผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นจะดูแลรักษาสวัสดิภาพของประชาชนและสมบัติของท้องถิ่นได้ดีกว่าส่วนอื่นๆ เนื่องจากผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งของคนในท้องถิ่นด้วยกัน ย่อมเข้าใจปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหา แต่ที่ผ่านมาท้องถิ่นไม่ได้รับการกระจายอำนาจดูแลป่าไม้ เนื่องจากมีผลประโยชน์กันอยู่หลายส่วน

ขณะที่การเฝ้าระวังการเกิดไฟป่าในพื้นที่ ได้จัดชุดรักษาความปลอดภัย ประจำหมู่บ้าน (ชรบ.) ทุกแห่ง ประสานการทำงานร่วมกับหน่วยควบคุมไฟป่า ตลอด 24 ชั่วโมงโดยผลัดเวร-ยาม เพื่อไม่ให้ปัญหาไฟป่าลุกลามส่งผลกระทบมาถึงภัยแล้งที่รุนแรงอยู่แล้ว

ด้าน นายพนัส ทัศนียานนท์ ประธานมูลนิธิศูนย์กฎหมายสิ่งแวดล้อม และอดีตประธานคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมวุฒิสภา กล่าวถึงปัญหาความแห้งแล้งในปีนี้ว่า มีแนวโน้มรุนแรงมาก ดูได้จากสภาพน้ำตกทีลอซู ที่อ.อุ้มผาง จ.ตาก ซึ่งเป็นแห่ลงท่องเที่ยวที่เป็นที่รู้จักของชาวโลก กำลังประสบปัญหากับปริมาณน้ำตกน้อยลงเร็วกว่าทุกปี ทั้งนี้มาจากปัญหาสภาพภัยแล้ง และการบุกรุกพื้นที่ทำกินเหนือน้ำตกทีลอซู ที่มีการกักเก็บน้ำเพื่อทำการเกษตร ทั้งนี้พื้นที่เหนือน้ำตกเป็นพื้นที่ป่าสงวน

นายพนัสบอกว่า เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช รวมทั้งกรมป่าไม้ต้องไปสกัดกั้นเพื่อไม่ให้ผู้บุกรุกพื้นที่หยุดกระทำการดังกล่าวไว้ก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการขยายไปมากกว่าที่เป็นอยู่ ในปัจจุบัน ซึ่งที่ผ่านมาการสกัดกั้นการบุกรุกป่าในพื้นที่ จ.ตาก ถือว่าล้มเหลว เช่น เส้นทางสายตาก-แม่สอด มีการบุกรุกพื้นที่ป่ามากจนภูเขาโล้นหมด ฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่เจ้าหน้าที่ต้องจริงจัง จัดการขั้นเด็ดขาดกับผู้กระทำผิดกฎหมายสิ่งแวดล้อม

ด้าน นายเทอดเกียรติ ชินสรนันท์ นายกเทศมนตรีนครแม่สอด ได้รับแจ้งจากประชาชนในเขตเทศบาลนครแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตากว่า จากสภาพอากาศที่แปรปรวนในเขตเทศบาลนครแม่สอด ฤดูร้อนและแห้งแล้งมาเร็วและนาน แหล่งต้นน้ำลำธารที่ประชาชนต้องใช้ได้ถูกทำลายเป็นจำนวนมาก จึงได้เดินทางไปตรวจสอบในจุดต้นน้ำและพื้นป่าธรรมชาติต้นน้ำและได้ทราบว่ามีผืนป่าถูกบุกรุก จึงต้องการประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบดูแลเพื่อให้ป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติมีอยู่ให้ยาวนานที่สุดจากรุ่นสู่รุ่น

นอกจากนี้ จากสภาพป่าไม้ที่ถูกตัดทำให้ในช่วงฤดูฝนน้ำไหลหลากก็จะส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมในเขตเทศบาลนครแม่สอด ซึ่งเป็นจุดต่ำที่สุดอีกด้วย เป็นผลกระทบที่ประชาชนในเขตเมืองได้รับ
กำลังโหลดความคิดเห็น