รายงานพิเศษโดย : อมรรัตน์ ล้อถิรธร
การเสียชีวิตอย่างกะทันหันในต่างประเทศของ น.ส.สโรชา เนียมบุญนำ หรือ “น้องกาว” อายุ 20 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี (เกียรตินิยมอันดับ 2) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่เพียงนำมาซึ่งความเศร้าโศกแก่พ่อแม่ ที่ลูกสาวต้องจบชีวิตลง แต่ยังเป็นการสูญเสียบุคลากรอนาคตไกลที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศไปอย่างน่าเสียดาย วายร้ายที่คร่าชีวิต “น้องกาว” ลงอย่างรวดเร็วได้ภายใน 1 สัปดาห์ คือ โรคร้ายที่ชื่อว่า “โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ” ชนิดรุนแรงหรือเฉียบพลัน คำถามตามมาทันทีว่า โรคที่ไม่ค่อยคุ้นหูนี้เกิดจากอะไร? และเราจะเป็นเหยื่อรายต่อไปหรือไม่?
ปกติแล้วในสมองของคนเรา จะมีน้ำหล่อเลี้ยงอยู่รอบๆ เพื่อเป็นตัวป้องกันไม่ให้สมองได้รับอันตราย ทั้งยังมีหน้าที่ช่วยให้หลอดเลือดนำอาหาร และน้ำไปเลี้ยงสมองด้วย นอกจากสมองจะมีน้ำล้อมรอบแล้ว ก็ยังมีเยื่อที่อยู่รอบๆ สมองอีกชั้นหนึ่ง เรียกว่า “เยื่อหุ้มสมอง” นั่นเอง
แล้วอะไรเป็นสาเหตุให้เยื่อหุ้มสมองเกิดการอักเสบได้บ้าง รศ.พญ.นิจศรี ชาญณรงค์ แห่งสาขาวิชาประสาทวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ บอกว่า เยื่อหุ้มสมองอักเสบเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะจากการติดเชื้อต่างๆ หรือไม่ผู้ป่วยก็อาจจะมีโรคประจำตัวบางอย่างอยู่ ทำให้ภูมิต้านทานน้อย
“มันก็แล้วแต่ว่าคนไข้มีโรคประจำตัวอะไรอยู่หรือเปล่า ในคนปกติก็อาจจะเป็นไวรัสก็ได้ เป็นแบคทีเรียก็ได้ หรือบางคนถ้าภูมิต้านทานไม่ค่อยดีอาจจะติดเชื้อราง่าย อาจจะเป็นเชื้อราที่เยื่อหุ้มสมอง หรือบางคนไปรับประทานอาหารที่มีพยาธิอาจจะมีพยาธิขึ้นไปสมองก็ได้เหมือนกัน พยาธิจะเจอไม่ค่อยบ่อย ที่เจอบ่อยๆ ก็เป็นเชื้อไวรัส ซึ่งส่วนใหญ่อาการไม่ค่อยรุนแรง ก็ปวดหัวมีไข้ คอตึงๆ หน่อย และก็จะค่อยๆ หายไปได้เอง อันที่จะเป็นอันตรายก็คือ อันที่เกิดจากแบคทีเรีย ซึ่งมันเป็นได้ จะอันตรายรุนแรงมาก เป็น 1-2 วันก็อาจจะแย่ อาจจะถึงขนาดหมดสติหรือเสียชีวิตไปเลยก็ได้ หรือเป็นแบคทีเรียที่ไม่รุนแรงมาก เช่น เป็นเชื้อวัณโรค ก็อาจจะทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้”
สำหรับเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรียนั้น คุณหมอนิจศรี บอกว่า ปกติแล้วเชื้อทั้ง 2 ตัวนี้จะติดมาจากสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆ ตัวเรา ขณะที่แบคทีเรียบางชนิดก็อยู่ในร่างกายเราอยู่แล้ว เช่น อยู่ที่ระบบทางเดินหายใจ และไม่ได้ทำให้เกิดโรค แต่พอวันดีคืนดี มันก็เกิดแพร่เชื้อทำให้เรามีอาการของโรคขึ้นมา โดยเฉพาะในคนที่มีภูมิต้านทานต่ำจากโรคบางอย่าง เช่น โรคเอดส์ เป็นต้น
ส่วนที่มีการพูดกันว่า นกพิราบมีเชื้อที่ทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้นั้น จริงหรือไม่ คุณหมอนิจศรี ยืนยันว่า เป็นเรื่องจริง
“นกพิราบมันจะมีเชื้อราตัวหนึ่ง ซึ่งถ้าเราไปสัมผัสกับสิ่งที่ออกมาจากนกพิราบ ก็มีโอกาสที่จะไปสัมผัสกับเชื้อราตัวนี้ ถ้าสัมผัสไปแล้วเชื้อมากพอ หรือเชื้อเข้าไปในเวลาที่เหมาะสม ก็อาจจะเกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งเป็นจากเชื้อรา แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่ได้อยู่กับนกพิราบ เชื้อราตัวนี้มันก็มีอยู่ในธรรมชาติที่อื่นอยู่แล้วเหมือนกัน”
ได้ทราบสาเหตุของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบกันไปแล้ว มาดูอาการของโรคนี้กันบ้าง คุณหมอนิจศรี บอกว่า อาการของโรคจะรุนแรงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าเป็นโรคนี้จากสาเหตุไหน
“แบคทีเรียอาจจะอันตรายที่สุดในกลุ่มของเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เพราะเชื้อมันรุนแรงกว่า คนไข้มักจะมีอาการอยู่ดีๆ มีไข้สูง บางทีก็มีหนาวสั่นร่วมด้วย แล้วก็ปวดศีรษะอย่างรุนแรงมาก บางคนก็จะมีลักษณะ เช่นว่า ตาสู้แสงไม่ได้ เวลาเห็นแสงจ้าๆ แล้วจะแสบตา อาจจะถึงขนาดว่าซึมลง หมดสติ อาจจะมีชักเกร็งและก็อาจจะเสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว ถ้าเป็นเชื้ออื่นๆ ก็แล้วแต่ว่า บางอย่างก็เป็นเร็ว บางอย่างก็เป็นนาน อีกอันหนึ่งที่เจอได้ ก็คือ เป็นเชื้อวัณโรค ซึ่งวัณโรคเหมือนที่เป็นในปอด ก็ทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้เหมือนกัน อาการก็คล้ายๆ กัน มีไข้สูง ปวดศีรษะก็จะอยู่ประมาณสักอาทิตย์ 2 อาทิตย์ก็เริ่มแย่ อาจจะมีปัญหาเรื่องแขนขาอ่อนแรงตามมา มีอาการตามองเห็นไม่ชัด ก็เป็นอาการที่โรคมันเป็นมากขึ้น พวกนี้ก็ต้องได้รับการวินิจฉัยให้เร็ว เพื่อจะให้ยาเพื่อที่จะไปรักษาเชื้อโรคอันนี้ให้มันหายไป คนไข้ก็มักจะอาการดีขึ้น แต่บางรายก็อาจจะมีภาวะแทรกซ้อนเหมือนกัน”
สำหรับภาวะแทรกซ้อนนั้น คุณหมอนิจศรี บอกว่า มักจะพบบ่อยในผู้ป่วยที่เป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดรุนแรง โดยอาจจะมีภาวะสมองอักเสบร่วมด้วย ซึ่งเกิดจากการอักเสบลุกลามจากเยื่อหุ้มสมองเข้าไปภายในเนื้อสมองนั่นเอง ซึ่งหากเชื้อลุกลามไปที่หลอดเลือดสมอง ก็จะส่งผลให้เลือดไหลไม่สะดวก หรือมีการอักเสบ หรือถึงขั้นหลอดเลือดแตกได้ ส่วนคนที่เป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อโรคไข้กาฬหลังแอ่น เชื้อก็อาจจะแพร่กระจายไปในกระแสเลือดได้ด้วย ซึ่งจะส่งผลให้มีผื่นขึ้นตามผิวหนัง มีเส้นเลือดอักเสบตามแขนและขา บางคนเป็นมากหรือหลอดเลือดอักเสบมาก อาจทำให้เลือดไปเลี้ยงนิ้วและแขนขาไม่ได้ สุดท้ายส่งผลให้นิ้วหลุด นิ้วกุดไปก็มี แต่ก็พบไม่บ่อย นอกจากนี้ ยังมีโรคแทรกซ้อนอีกแบบ คือ มีน้ำในสมองมาก ทำให้ตาบอด หรือหูหนวกได้ ซึ่งเกิดจากการอักเสบของสมองนั่นเอง
ปกติแล้ว ถ้าผู้ป่วยมาให้หมอรักษาตั้งแต่ระยะแรก และหมอให้ยาถูกกับชนิดของโรค ก็สามารถหายขาดจากโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ แต่ถ้ามาหาหมอช้าหรือเชื้อดื้อยา การรักษาก็จะยากขึ้น เมื่อโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบค่อนข้างเป็นโรคที่อันตรายหากเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย แล้วเราจะมีวิธีป้องกันตัวเองอย่างไรให้ห่างไกลจากโรคนี้ คุณหมอนิจศรี แนะว่า วิธีป้องกันก็เป็นวิธีทั่วๆ ไป คือ ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารให้ถูกต้อง คืออาหารที่ปรุงสุกแล้วเท่านั้น หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจมีพยาธิ ออกกำลังกายตามสมควร อย่างไรก็ตามคุณหมอนิจศรี บอกว่า การหลีกเลี่ยงเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบอาจทำได้ยาก เพราะเป็นเชื้อที่อยู่กับสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเรา ดังนั้นถ้าเมื่อไหร่มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง โดยปวดทั้งศีรษะ และมีอาการคอตึงๆ ก้มศีรษะไม่ค่อยถนัด ตาสู้แสงไม่ได้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่า อาจจะเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน!