สธ.เผยพบผู้ป่วยไข้เลือดออกต่อเนื่อง กำชับทุกจังหวัดขอความร่วมมือ ปชช.แนะใช้มาตรการ 5 ป.ช่วงฤดูฝน ลดจำนวนผู้ป่วย หากมีไข้สูงเกิน 2 วัน รีบพบแพทย์ทันที
วันนี้ (20 พ.ค.) ที่ โรงพยาบาลพัทลุง จังหวัดพัทลุง นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมการดำเนินงานตามนโยบายในเขตตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขที่ 6 ประกอบด้วย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมพร นครศรีธรรมราช และ พัทลุง ว่า ปีนี้ฤดูฝนมาถึงเร็ว ปัญหาสุขภาพของประชาชนที่พบบ่อย คือ โรคไข้เลือดออก เพราะเมื่อมีน้ำ ยุงจะเริ่มวางไข่ กลายเป็นลูกน้ำ และยุงตัวเต็มวัย ซึ่งโรคไข้เลือดออกสิ่งที่สำคัญ คือ จะมีไข้ประมาณ 3 วัน พอถึงวันที่ 4 ไข้จะลดผู้ป่วยจะช็อก และที่เป็นปัญหาในช่วงหลังๆ นี้ เนื่องจากคนที่ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก เดิมพบในเด็กเล็ก แต่ปัจจุบันเริ่มพบในวัยรุ่น ทำให้เวลาไปพบแพทย์มักไม่ได้คิดถึงโรคไข้เลือดออก ซึ่งจะทำให้การวินิจฉัยล่าช้า มีผลเสียทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน จนเสียชีวิต
นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า ได้กำชับให้แพทย์ทุกคน ตรวจวินิจฉัยและรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกอย่างเคร่งครัด และมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การดูแลรักษาผู้ป่วยที่เหมาะสม รวดเร็ว ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ ลดจำนวนการเจ็บป่วย ลดการเสียชีวิตลงให้มากที่สุด รวมทั้งลดอาการแทรกซ้อน และผลกระทบอื่นๆ ตามมา รวมทั้งจัดอบรมพัฒนาความรู้ให้กับแพทย์จบใหม่ทั่วประเทศ ให้สามารถรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งนี้ สาเหตุที่ผู้ป่วยไข้เลือดออกเสียชีวิตส่วนหนึ่งเกิดจากมาถึงมือแพทย์ช้าเกินไป จึงขอฝากเตือนประชาชนว่า ในฤดูการระบาดของโรคไข้เลือดออก หากมีไข้สูงเกินกว่า 2 วัน ขอให้นึกถึงโรคไข้เลือดออก และรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว ที่สำคัญอย่าซื้อยากินเองเด็ดขาด
นายแพทย์ ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเป็นมาตรการที่ดีที่สุดและได้ผลที่สุด เพราะเป็นการกำจัดที่แหล่งต้นตอของโรคโดยตรง ขอให้ทุกบ้านยึดหลัก 5 ป.เป็นวิธีการในการกำจัดลูกน้ำยุงลายด้วยตนเอง ได้แก่ 1.ปิดฝาภาชนะกักเก็บน้ำให้มิดชิดป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ 2.เปลี่ยนน้ำในภาชนะขนาดเล็ก ในบ้านทุกสัปดาห์ เช่น ขารองตู้กับข้าว แจกัน จานรองกระถางต้นไม้ 3.ปล่อยปลาหางนกยูง ปลากินลูกน้ำ ในอ่างบัวอ่างปลูกพืชน้ำต่างๆ ในบริเวณบ้าน 4.ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ให้สะอาด ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย และ 5.ปฏิบัติเป็นนิสัยทำอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อตัดวงจรชีวิตของยุง ซึ่งหากไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกบ้านช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้านของตนเองแล้ว คาดว่า โรคไข้เลือดออกคงจะระบาดหนัก
สำหรับสถานการณ์ของโรค ตั้งแต่ ม.ค.จนถึงวันที่ 18 พ.ค.พบผู้ป่วยทั่วประเทศจำนวน 9,418 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 14.83 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งจำนวนผู้ป่วยลดลงจากในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2553 ร้อยละ42 เสียชีวิต 7 ราย พบผู้ป่วยมากที่สุด ภาคกลาง จำนวน 5,244 ราย เสียชีวิต 1 ราย รองลงมา ภาคใต้ พบผู้ป่วย 1,796 ราย เสียชีวิต 2 ราย ภาคเหนือ พบผู้ป่วย 1,374 ราย เสียชีวิต 2 ราย และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบผู้ป่วย 1,004 ราย เสียชีวิต 2 ราย สำหรับเขตตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขที่ 6 พบผู้ป่วย 658 คน เสียชีวิต 1 คน