xs
xsm
sm
md
lg

“มหิดล” เจ๋งคิดนวัตกรรม “ระบบส่งยารักษามะเร็ง” เข้าสู่เซลล์มะเร็งโดยตรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ม.มหิดล เจ๋ง คิดนวัตกรรม “ระบบส่งยารักษามะเร็ง” เข้าสู่เซลล์มะเร็งโดยตรง ชี้ไม่มีผลข้างเคียง

วันนี้ (26 เม.ย.) ที่คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล รศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และดร.นรเศรษฐ์ ณ สงขลา ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล ร่วมแถลงข่าว “ความก้าวหน้าผลการวิจัยการรักษามะเร็งในเด็กและนวัตกรรมระบบส่งยารักษามะเร็ง”

รศ.นพ.สุรเดช กล่าวว่า โรคมะเร็งในเด็กพบได้ตั้งแต่อายุ 1-15 ปี โดยอัตราการพบประมาณ 1,000-1,500 รายต่อปี ทั้งนี้ เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวมากที่สุดถึงร้อยละ 30 มะเร็งต่อมน้ำเหลืองร้อยละ 23 เนื้องอกในสมองร้อยละ 20 นอกนั้นเป็นมะเร็งต่อมหมวกไต มะเร็งกระดูก และมะเร็งจอภาพในตา ทั้งนี้ ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดมะเร็งในเด็ก แต่มักพบในช่วง 5 ปีแรก ดังนั้น การที่พบเร็วย่อมส่งผลต่อการรักษาให้หายขาดได้ถึงร้อยละ 80 เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของเซลล์มะเร็งในเด็กจะยังไม่มาก การตอบสนองต่อการรักษาจึงได้ผลดี แต่ที่น่ากังวล คือ ยังมีมะเร็งอีกชนิดที่ผลการรักษายังไม่ดีนัก คือมะเร็งสมอง โอกาสหายขาดเพียงร้อยละ 30-40 เท่านั้น ซึ่งล่าสุดมีเทคโนโลยีในการรักษา ถือเป็นความหวังในอนาคต เป็นความร่วมมือระหว่างทางการแพทย์และเทคนิคทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ในการพัฒนานวัตกรรมระบบการส่งยารักษามะเร็ง

ดร.นรเศรษฐ์ กล่าวว่า โรคมะเร็งสมอง จัดเป็นมะเร็งที่มีความร้ายแรง เนื่องจากภายในสมองถูกบรรจุอยุ่ในเนื้อที่ที่จำกัดและเข้าถึงยาก โดยปัจจุบันจึงมีการพัฒนาระบบส่งยาที่สามารถนำยารักษามะเร็งในปริมาณที่ต้องการไปสู่เซลล์มะเร็งโดยตรง เรียกว่า ระบบการนำส่งยาด้วยนาโนเมตร ซึ่งสามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้เฉพาะ โดยไม่ส่งผลต่ออวัยวะข้างเคียง ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ระบบส่งยารักษามะเร็งสมองในต่างประเทศมีการใช้แผ่นเวเฟอร์ ซึ่งเป็นแผ่นเจลผสมยารักษามะเร็งนำไปติดบริเวณก้อนเนื้อ เพื่อให้เจลละลายตัวยาซึมทำลายเซลล์มะเร็ง แต่ปัญหาคือ ตัวแผ่นดังกล่าวมีผิวสัมผัสที่ไม่เหมาะสมไม่สามารถกระจายตัวยาได้อย่างทั่วถึง และวัสดุที่ใช้ก็ย่อยสลายเร็วจนอาจไปอุดตันท่อน้ำเส้นสมอง ทำให้เกิดภาวะสมองบวม ที่สำคัญ ยังมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 1 ล้านบาท ล่าสุด จึงได้พัฒนาเทคนิคใหม่ที่สามารถฉีดเข้าสู่ก้อนมะเร็ง เพื่อให้เกิดการแข็งตัวภายใน ซึ่งวิธีดังกล่าวอยู่ระหว่างทดสอบในสัตว์ทดลอง คาดว่า จะทราบผลได้ภายในปีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น