พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือ “ว.วชิรเมธี” ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย ส่ง มงคลสงกรานต์ แก่ประชาชนไทย แนะเป็นเทศกาลแห่งความสุข และเทศกาลแห่งความกตัญญูรู้คุณต่อบุพการีชนคนผู้เป็นบรรพบุรุษ ถือเป็นวันหยุดยาวที่จะได้ทำบุญกุศล รดน้ำดำหัว ขอพรผู้ใหญ่ที่เคารพ
วันนี้ (12 เม.ย.) พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือ “ว.วชิรเมธี” ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย พระนักเขียนและนักเทศน์ชื่อดัง ส่งมงคลสงกรานต์ แก่ประชาชนชาวไทย โดยระบุว่า สงกรานต์คือเทศกาลแห่งความสุข และเทศกาลแห่งความกตัญญูรู้คุณต่อบุพการีชนคนผู้เป็นบรรพบุรุษของตน ในวันเวลาดังกล่าว เราคนไทยถือเป็นวันหยุดยาวที่จะได้ทำบุญกุศล รดน้ำดำหัว ขอพรผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ และท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจกับบุคคลอันเป็นที่รัก ในวันเวลาแห่งความสุขเช่นนี้ หากมี “ธรรมะนำหน้า” ก็จะเพิ่มคุณค่าแห่งการเฉลิมฉลองให้เปี่ยมสุขยิ่งๆ ขึ้นไป ในที่นี้ จึงขอแนะนำหลักธรรมที่ควรปฏิบัติในเทศกาลสงกรานต์ ดังต่อไปนี้
ก.หลักธรรมสำหรับคนขับรถ (กลับบ้าน-ท่องเที่ยว-เดินทางไกล)
1.ไม่จำเป็นอย่าดื่ม (สุรา)
2.ถ้าดื่มอย่าให้เมา (จนขาดสติ)
3.ถ้าเมาอย่าขับ
4.ถ้าขับอย่าหลับใน
ข.หลักธรรมสำหรับครอบครัว (สงกรานต์คือวันครอบครัว)
มารดาบิดาควรทำหน้าที่ต่อบุตรธิดา ดังนี้
1.สอนให้หนีห่างจากความชั่ว
2.ฝึกให้ตั้งตัวอยู่ในความดี
3.วางรากฐานแห่งชีวีด้วยการศึกษา
4.ช่วยพิจารณาเมื่อจะเลือกคู่ชีวิต
5.มอบสมบัติให้เป็นกรรมสิทธิ์เมื่อถึงเวลาอันสมควร
บุตรธิดาควรทำหน้าที่ต่อมารดาบิดา ดังนี้
1.ท่านเลี้ยงเรามาแล้วต้องเลี้ยงท่านตอบ
2.สนองงานในระบบของท่าน
3.สืบสานวงศ์สกุล
4.รักษาต้นทุนแห่งความเป็นทายาท
5.ไม่ประมาทคอยทำบุญเมื่อท่านล่วงลับ
หลักธรรมสำหรับผู้สูงอายุ (สงกรานต์คือวันผู้สูงอายุ)
ผู้สูงอายุ ควรสูงด้วยธรรมะและประโยชน์โสตถิผล ดังนี้
1.ขอให้สูงด้วย “อายุ”
2.ขอให้สูงด้วย “คุณธรรม”
3.ขอให้สูงด้วย “สติปัญญา”
4.ขอให้สูงด้วย “ประโยชน์ที่ฝากไว้ให้แก่คนรุ่นหลัง”
หลักธรรมสำหรับ “คนไทย”
สงกรานต์ คือ วันปีใหม่แบบไทยๆ ปีใหม่มาถึงทั้งที จึงควรตั้งปณิธานในการดำเนินชีวิตให้ดี โดยปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้
1.ควรตั้งปณิธานว่า “ปีใหม่ต้องดีกว่าปีเก่า”
2.ควรใช้เวลาให้คุ้มค่าที่สุด ด้วยการเตือนตัวเองให้ไม่ประมาทตามแนวทางพุทธพจน์ที่ว่า “คืนวันล่วงไปๆ บัดนี้เธอทำอะไรอยู่”
3.ควรฝึกตนให้เป็นคนที่มีคุณค่าด้วยการถือคติที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งของตน จากนั้นจงให้คนเขาได้พึ่ง”
4.ควรเตือนตัวเองให้รู้จักดูแลสถาบันครอบครัวให้ดีแล้วจึงช่วยเหลือเกื้อกูล สังคม ด้วยการปฏิบัติตามหหลักการที่ว่า “ดูแลคนในครอบครัวให้ดี จากนั้นจึงแบ่งไมตรีให้คนทั้งโลก”