“หมอประเวศ” แนะยกวาระแห่งชาติ เรื่องการอ่านต้องทำอย่างจริงจัง เน้นกลุ่มทำงานด้านยุทธศาสตร์ เสนอ 5 ประเด็นขับเคลื่อน ส่งเสริมผลิตหนังสือดี สร้างชมรมรักการอ่าน ห้องสมุดชุมชนทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ แจกการบ้านเด็กเน้นการอ่าน ใช้การสื่อสารมาส่งเสริมการอ่านทุกชนิด พร้อมจัดประกวดการอ่านทุกระดับ
วันนี้ (8 เม.ย.) ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต (มสด.) นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดประชุมสัมมนาวิชาการ เรื่อง “หนังสือ สื่ออ่านและการอ่าน กลไกและเครื่องมือปฏิรูป” ว่า ตนเชื่อว่า การอ่านเป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างองค์ความรู้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ผลักดันส่งเสริมในเรื่องการอ่าน และได้กำหนดให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ และจะได้ช่วยสร้างให้สังคมเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ซึ่งตนคิดว่าการอ่านเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะช่วยกันขับเคลื่อนอย่างไรให้การอ่านเป็นของคนไทย ดังนั้น จะต้องสร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคม และสร้างแรงขับเคลื่อนในเรื่องนี้ ซึ่งจากการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการอ่าน เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต เมื่อเร็วๆ นี้ ได้เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ผลักดันเรื่องการอ่านในหลายเรื่อง เช่น ส่งเสริมบรรยากาศ และสิ่งแวดล้อมการอ่าน การสร้างเครือข่ายการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อสร้างเสริมลักษณะนิสัยรักการอ่าน เป็นต้น ซึ่งในส่วนของ ศธ.ได้พยายามจัดระบบการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน เพื่อให้สอดรับกับการกำหนดการอ่านให้เป็นวาระแห่งชาติ
ด้าน นพ.ประเวศ วะสี ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิเด็ก กล่าวตอนหนึ่งในการแสดงปาฐกถาพิเศษ “หนังสือ สื่ออ่านและการอ่าน : กลไกและเครื่องมือสร้างฐานภูมิปัญญาของแผ่นดิน” ว่า การจะผลักดันการอ่านให้เป็นวาระแห่งชาติให้สำเร็จต้องมีกลุ่มทำงานยุทธศาสตร์มาผลักดันเรื่องนี้ ซึ่งในบ้านเรายังไม่มีดังนั้นคนที่สนใจด้านการอ่านน่าจะรวมตัวและร่วมกันขับเคลื่อนในเรื่องนี้ ทั้งนี้ การจะขับเคลื่อนการอ่านจะต้องทำใน 5 เรื่องหลัก คือ 1.การตัดวงจรชั่วร้ายเนื่องจากหนังสือดีในปัจจุบันขายได้แค่ไม่กี่พันเล่ม จึงทำให้คนเขียน คนแปลหนังสือดีๆ ก็จะมีน้อย ตรงจุดนี้จะต้องอาศัยรัฐบาลมาช่วยตัดวงจรด้วยการส่งเสริมสนับสนุนการผลิตหนังสือดีๆ ให้มากขึ้นโดยจะต้องมีกองทุนขึ้นมาสนับสนุนการผลิตหนังสือดี 2.ส่งเสริมให้เกิดชมรมรักการอ่านทุกหมู่บ้าน มีห้องสมุดทุกหมู่บ้านประมาณ 80,000 กว่าแห่งทั่วประเทศ
นพ.ประเวศ กล่าวด้วยว่า 3.ทุกโรงเรียนมีหลักสูตรการอ่าน จึงควรแจกการบ้านให้เด็กไปอ่านหนังสือมา เช่น อ่านนวนิยาย 4.ใช้การสื่อสารมาส่งเสริมการอ่านทุกชนิด และ 5.ประกวดการอ่านทุกระดับ เช่น ระดับหมู่บ้าน ตำบล เป็นต้น อย่างไรก็ตามตนคิดว่าควรจะต้องมีคณะกรรมการที่มากำหนดยุทธศาสตร์ เรื่องการอ่านอย่างจริงจังและจะต้องตั้งเป้าว่าจะต้องผลักดันให้เกิดความสำเร็จสำเร็จภายในกี่ปี ตนเชื่อว่า หากเราสร้างวัฒนธรรมการอ่านได้ประเทศชาติก็จะดีขึ้น แต่หากไม่มีวัฒนธรรมการอ่านแล้วประเทศชาติก็จะแย่ เพราะปัญหาต่างๆ จะมีมากมายในปัจจุบัน