อย.เร่งเปลี่ยนฉลากบนผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุขให้เป็นไปตามระบบสากล จำแนกประเภทความเป็นอันตราย และการติดฉลากสารเคมีที่เป็นระบบเดียวกันทั่วโลก เสริมให้ประเทศไทยมีระบบการแสดงฉลากที่เป็นมาตรฐานสากลทัดเทียมกับต่างประเทศ
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ให้ความสำคัญในการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในฐานะผู้รับผิดชอบกำกับดูแลผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุข ได้เร่งดำเนินการเพื่อรองรับการแสดงฉลากตามระบบสากลการจำแนกประเภทความเป็นอันตราย และการติดฉลากสารเคมีที่เป็นระบบเดียวกันทั่วโลก หรือระบบ GHS (Globally Harmonized System of Classification and Labelling of Chemicals) เพื่อให้ประเทศไทยมีระบบการแสดงฉลากสารเคมีที่เป็นมาตรฐานสากลทัดเทียมกับต่างประเทศ โดยคาดว่าจะประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ ในปี พ.ศ. 2555 ผู้ผลิตและผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุขจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง การแสดงฉลากในปี พ.ศ. 2556และแล้วเสร็จภายใน 5 ปี คือ ภายในปี พ.ศ. 2560 ซึ่งประโยชน์สำคัญที่สุด คือ ทำให้ผู้ใช้สารเคมีและผู้บริโภคได้รับข้อมูลความเป็นอันตรายของสารเคมีที่ใช้ผ่านการแสดงรูปสัญลักษณ์และข้อความ แสดงความเป็นอันตรายในรูปแบบที่ชัดเจนและเข้าใจง่าย ซึ่งจะเป็นแรงผลักให้เกิดความตระหนักใช้สารเคมีอย่างถูกต้อง ปลอดภัย ลดความเสี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น เป็นการปกป้องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากอันตรายของสารเคมี
การเปลี่ยนแปลงที่ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายจะสังเกตได้ชัดเจนเมื่อมีการนำระบบ GHS มาใช้ คือ ผลิตภัณฑ์จะมีการแสดงรูปสัญลักษณ์ คำสัญญาณ และข้อความแสดงความเป็นอันตรายตามประเภทความเป็นอันตรายที่จำแนกไว้บนฉลาก โดยรูปสัญลักษณ์จะมีลักษณะเป็นรูปสีดำบนพื้นขาวอยู่ภายในกรอบสีแดงรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ซึ่งมีทั้งหมด 9 รูปสัญลักษณ์ เช่น รูปเปลวไฟบนฉลากวัตถุอันตรายไวไฟ รูปหัวกะโหลกและกระดูกไขว้บนฉลากวัตถุอันตรายที่มีความเป็นพิษเฉียบพลัน รูปกัดกร่อนบนวัตถุอันตรายที่มีฤทธิ์กัดกร่อน เป็นต้น ส่วนคำสัญญาณและข้อความแสดงความเป็นอันตรายจะอยู่ติดกับรูปสัญลักษณ์ เพื่อเป็นการสื่อความหมายของรูปสัญลักษณ์ให้ผู้ใช้เข้าใจอย่างชัดเจน โดยคำสัญญาณที่ใช้จะมี ๒ คำ คือ “อันตราย” และ “ระวัง” ซึ่งขึ้นอยู่กับระดับความเป็นอันตรายของผลิตภัณฑ์แต่ละประเภท เพื่อเตือนและ สร้างความตระหนักแก่ผู้ใช้ถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นหากไม่ปฏิบัติตามคำเตือนบนฉลากอย่างเคร่งครัด และไม่ว่าจะแปลเป็นภาษาใดความหมายของรูปสัญลักษณ์คำสัญญาณ และข้อความแสดงความเป็นอันตรายก็จะสื่อความหมายเดียวกันเสมอ
เลขาธิการ อย.กล่าวต่อไปว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการนำระบบ GHS มาใช้ในการแสดงฉลากผลิตภัณฑ์วัตถุอันตราย อย.ได้ดำเนินกิจกรรมในหลายๆ ด้าน เช่น การอบรมผู้ประกอบการวัตถุอันตราย การเผยแพร่สื่อความรู้และประชาสัมพันธ์ให้แก่ผู้บริโภค และการสอดแทรกสาระการเรียนรู้เกี่ยวกับระบบ GHS เข้าสู่หลักสูตรการเรียนการสอนสำหรับนักเรียน