“จุรินทร์” ระดมทีมแพทย์ 12 ทีมกว่า 100 ชีวิต จากภาคกลางลงใต้ ช่วยผู้ประสบภัย จ.นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี เผยยอดผู้เจ็บป่วยเพิ่มขึ้นกว่า 8,000 ราย วันนี้ใช้เฮลิคอปเตอร์ลำเลียงเด็กแรกเกิดปอดไม่สมบูรณ์จาก รพ.พระแสงและหญิงเจ็บครรภ์คลอดจากหมู่บ้านที่ อ.กาญจนดิษฐ์ ไป รพ.สุราษฎร์ธานี
วันนี้ (1 เม.ย.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในภาคใต้ว่า ขณะนี้มีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 8 จังหวัด 82 อำเภอ ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี กระบี่ ตรัง พังงา ชุมพร และสงขลา มีโรงพยาบาลได้รับผลกระทบ 106 แห่ง เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 95 แห่ง ที่เหลือเป็นโรงพยาบาลชุมชน ขณะนี้มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเปิดให้บริการไม่ได้ 4 แห่ง คือ รพ.สต.สองแพรก และรพ.สต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี รพ.สต.เขาดิน และรพ.สต.หน้าเขา อ.เขาพนม จ.กระบี่ ส่วนโรงพยาบาลที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือโรงพยาบาลท่าศาลา แต่ในวันนี้น้ำแห้งเปิดให้บริการได้แล้ว ส่วนที่ยังท่วมและต้องปิดให้บริการ คือ รพ.ท่าโรงช้าง จ.สุราษฎร์ธานี
สำหรับผู้เสียชีวิตรวมจนถึงเมื่อวานนี้ (31 มีนาคม 2554) มีทั้งหมด 25 ราย ที่ จ.สุราษฎร์ธานี 6 ราย จ.พัทลุง 2 ราย จ.นครศรีธรรมราช 11 ราย จ.กระบี่ 6 ราย ในการให้บริการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ได้สั่งการให้ดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตควบคู่กันไป ตั้งแต่วันที่ 26-31 มีนาคม 2554 ออกหน่วยแล้ว 139 ครั้ง มีผู้รับบริการ 8,429 ราย โรคที่พบมากที่สุดคือโรคน้ำกัดเท้า คิดเป็นร้อยละ 51 ผิวหนังอักเสบร้อยละ 20 โรคระบบทางเดินหายใจร้อยละ 18 อุบัติเหตุร้อยละ 7 ขณะนี้ เร่งรณรงค์ให้ความรู้ ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพตนเอง เช่น ดูแลร่างกายให้อบอุ่น โดยเฉพาะที่ศีรษะ คอ หน้าอก หากไม่จำเป็นอย่าเดินย่ำน้ำเพราะอาจเกิดอุบัติเหตุ อาจจะมีเชื้อโรคฉี่หนูเข้าสู่ร่างกายได้ถ้าหากเท้ามีแผล
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า สถานการณ์ล่าสุดในวันนี้ (1 เมษายน 2554) มีผู้ป่วยหนัก 2 ราย ที่กำลังเร่งแก้ปัญหาอยู่ คือ เด็กหญิงอายุ 1 วัน ปอดไม่สมบูรณ์ ขณะนี้ได้ส่งเฮลิคอปเตอร์ของโรงพยาบาลกรุงเทพ ซึ่งสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินได้เช่าไว้ ไปรับจากโรงพยาบาลพระแสง ไปส่งที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีแล้วในช่วงเช้าวันนี้ อาการปลอดภัย ส่วนอีก 1 ราย คือ หญิงเจ็บท้องคลอด อายุ 15 ปี อยู่ที่บ้านใน อ.กาญจนดิษฐ์ ถนนถูกตัดขาด ได้ส่งเฮลิคอปเตอร์ของตำรวจไปรับที่บ้าน แต่เฮลิคอปเตอร์ตำรวจลงไม่ได้ ได้ประสานเปลี่ยนเป็นเฮลิคอปเตอร์ของกรมทรัพยากรฯ เพื่อไปรับตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ขณะนี้อยู่ในความดูแลของแพทย์เรียบร้อยแล้ว
ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วันนี้ ได้สั่งการให้ทีมแพทย์จากภาคกลางลงไปช่วยออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ที่ จ.นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ให้การบริการประชาชนในจุดที่เข้าถึงยาก รวม 12 ทีมจาก 8 จังหวัด เจ้าหน้าที่ประมาณทีมละ 8-10 คน ทยอยเดินทางไปตั้งแต่ช่วงเช้าวันนี้ ประกอบด้วย รพ.ศูนย์นครปฐม 2 ทีม จ.สุพรรณบุรี 2 ทีมจาก รพ.ศูนย์เจ้าพระยายมราช และสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17 จ.ราชบุรี 2 ทีมจาก รพ.ราชบุรี และ รพ.โพธาราม และจ.กาญจนบุรี 2 ทีมจาก รพ.พหลพลพยุหเสนา รพ.มะการักษ์ ไปช่วยที่จ.นครศรีธรรมราช ส่วนที่จ.สุราษฎร์ธานีมี 4 ทีมจาก รพ.พระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี รพ.สระบุรี รพ.ปทุมธานี และ รพ.พระนครศรีอยุธยา