“สุขุมพันธุ์” เล็งยกร่างข้อบัญญัติ กทม.อุดช่องว่างแผนป้องกันภัยของรัฐบาลกลาง พร้อมผลักดันแผนป้องกันสึนามิ และจัดเสวนาแผ่นดินไหวทุก 4 มุมเมือง
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมรับมือแผ่นดินไหวและภัยพิบัติในพื้นที่ ว่า คณะผู้บริหาร กทม.ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก เพราะภัยธรรมชาติจะเกิดขึ้นในหลากหลายรูปแบบ ที่ใด และเมื่อไรก็ได้ ดังนั้น เราจึงไม่ควรประมาทในการที่จะเตรียมการรับมือกับธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ตนเองไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก เพราะว่าอาคารสูงของ กทม.ถึงแม้ว่าจะเพิ่ง มีกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของงแผ่นดินไหว พ.ศ.2550
แต่ก่อนหน้านั้น ก็มีกฎกระทรวงฉบับที่ 49 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ที่บังคับให้ผู้ก่อสร้างอาคารสูงสร้างอาคารที่รองรับกับปัญหาลมแรงอยู่แล้ว ซึ่งทำให้อาคารสูงที่สร้างก่อนปี 2550 นั้น มีภูมิต้านทานปัญหาแผ่นดินไหวพอสมควร ดังนั้น จึงยังไม่ควรที่จะตื่นตระหนกว่าอาคารสูงที่สร้างก่อนปี 2550 ทุกแห่งอาจจะมีปัญหาซึ่งตนเห็นว่าสามารถสบายใจในระดับหนึ่งได้
แต่ในขณะเดียวกัน ผู้บริหาร กทม.ก็มองว่า เราจะต้องดำเนินการในหลายเรื่องด้วย กัน เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนมีความรู้สึกมั่นใจมากขึ้น โดยเรื่องแรกที่ตนเองจะดำเนินการคือจะเรียกประชุมคณะกรรมการจัดทำแผนป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานครภายในสัปดาห์นี้ เพื่อทบทวนแผนเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาแผ่นดินไหวตลอดจนรายงานความคืบหน้า รวมทั้งจะมีการนำปัญหาจากสึนามิเข้าในแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.ด้วย เพราะหลังจากที่ประเทศญี่ปุ่นเกิดเหตุแผ่นดินไหว จะบอกว่า สึนามิไม่เกิดขึ้นและไม่กระทบกระเทือนพื้นที่ กทม.คงไม่ได้ เพราะตราบใดที่ กทม.ยังมีพื้นที่ชายฝั่งติดทะเล 4.7 กิโลเมตรที่เขตบางขุนเทียน ปัญหาอาจจะเกิดขึ้นได้สักวันหนึ่ง ดังนั้น ตนได้สั่งไปแล้วให้เพิ่มมาตรการป้องกันภัยธรรมชาติที่เกิดจากสึนามิ