“นิพิฏฐ์” เผยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน และเจดีย์ประธานวัดปราสาทคุ้มพบรอยร้าว สั่งเจ้าหน้าที่ดูแลโบราณสถานที่ได้รับความเสียหายอย่างใกล้ชิด พร้อมเสนอ ครม.รับทราบ เร่งประเมินค่าใช้จ่ายในการบูรณะ
วันนี้ (26 มี.ค.) นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) พร้อมด้วยนายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร นายอเนก สีหามาต์ รองอธิบดีกรมศิลปากร นายธราพงศ์ ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการสำนักโบราณคดี และนายวิเศษ เพชรประดับ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ ลงพื้นที่ตรวจสอบโบราณสถาน 4 แห่ง ใน อ.เชียงแสน จ. เชียงราย ประกอบด้วย พระธาตุจอมกิตติ พระธาตุภูเข้า วัดป่าสัก และพระธาตุเจดีย์หลวง ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวจากประเทศพม่า
นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่า โบราณสถานที่มีความเสียหายนอกจาก พระธาตุจอมกิตติ พระธาตุภูเข้า พระธาตุเจดีย์หลวง และวัดป่าสัก แล้วยังได้รับรายงานเพิ่มเติมว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน และเจดีย์ประธานวัดปราสาทคุ้ม บริเวณหลังตลาดสดเมืองเชียงแสน ก็ได้รับความเสียหายด้วย พบรอยร้าวบริเวณฐานและช่วงกลางขององค์เจดีย์
นายนิพิฏฐ์กล่าวต่อว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ของสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้มีการจัดทำเขตหวงห้ามเข้าพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายแล้ว เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้ามาเก็บรวบรวมชิ้นส่วนของโบราณสถานที่หลุดร่อนลงมา สำหรับนำมาใช้เป็นหลักฐานต้นแบบในการบูรณะ แต่ยังเปิดให้ประชาชนเข้ามาสักการะได้ตามปกติ เพียงแต่ห้ามเข้าในเขตที่ได้รับความเสียหายเท่านั้น นอกจากนี้ ตนได้สั่งการให้มีเจ้าหน้าที่ดูแลโบราณสถานที่มีความเสี่ยงอย่างใกล้ชิด รวมทั้งให้รายงานเหตุการณ์อย่างเร่งด่วนในกรณีที่อาจเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขึ้นอีก ทั้งนี้ จากการประเมินสถานการณ์ เบื้องต้น ที่ พระธาตุจอมกิตติ ที่มียอดฉัตรเอียงมานั้น ขณะนี้ได้เร่งให้เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรใช้วัสดุค้ำยันฉัตรของพระธาตุให้ทรงตัวไว้แล้ว สำหรับเรื่องความเป็นห่วงว่าฐานพระธาตุจะเกิดการทรุดตัวนั้น ในเรื่องนี้ตนคิดว่าไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากกรมศิลปากรได้ดำเนินการเสริมโครงสร้างของพระธาตุให้แข็งแรงมาตั้งแต่ปี 2549 แล้ว
นายนิพิฏฐ์กล่าวอีกว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 มี.ค.นี้ ตนจะรายงานผลการตรวจเยี่ยมโบราณสถานที่ได้รับผลกระทบจากความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ให้ที่ประชุมได้รับทราบ พร้อมทั้งจะเร่งรัดดำเนินการประเมินค่าใช้จ่ายในการบูรณะโบราณสถานเพื่อจัดทำคำของบประมาณต่อที่ประชุม ครม.โดยเร็วที่สุด เนื่องจากโบราณสถานเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ยึดเหนี่ยวใจของคนในพื้นที่ เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อจิตใจของประชาชนอย่างมาก
ด้าน นางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ตนได้สั่งการให้สำนักศิลปากร ทั้ง 15 แห่งทั่วประเทศ ดำเนินการตรวจสอบโบราณสถานทั่วประเทศที่อยู่บริเวณรอยเลื่อนของเปลือกโลก พร้อมทั้งให้รายงานผลมายังกรมศิลปากรโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตภาคเหนือ ที่ จ.เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน ลำพูน ลำปาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จ.นครพนม หนองคาย และภาคใต้ ได้แก่ จ.ระนอง เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีโบราณสถานที่มีความเสี่ยงต่อความเสียหายสูงสุดเมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว