xs
xsm
sm
md
lg

น่าห่วง 12 ตึกเสี่ยงใน กทม.หลังแผ่นดินไหวที่พม่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
“พรเทพ” เผย ลูกค้าโรงแรมสูงเมืองกรุง เสียวโทร.เช็กความปลอดภัยกันเพียบ หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่พม่า ขณะที่มี 12 อาคาร สูงเกิน 15 ม.ฝั่งพระนครต้องดูแลเป็นพิเศษ เหตุอยู่ใกล้ชุมชน-ที่สาธารณะ 
 
นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจสอบอาคารสูงในพื้นที่กทม. ณ อาคารออลซีซั่นส์  ถนนวิทยุ ว่า หลังจากที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศพม่าเมื่อคืนที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ทั้งในภาคเหนือ ขณะที่ กทม.รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนสำหรับผู้ที่อยู่ภายในตึกสูง ซึ่งจากรายงานเบื้องต้น ยังไม่พบว่าอาคารใน กทม.ได้รับความเสียหายจากเหตุดังกล่าว แต่ก็ต้องมีการเฝ้าระวัง เพราะใน กทม.มีอาคารที่สูงกว่า 15 เมตร ขึ้นไปจำนวน 2,718 อาคาร

โดยอยู่ในฝั่งพระนคร 2,448 อาคาร ฝั่งธนบุรี 270 อาคาร และในจำนวนนี้มี 12 อาคาร ที่ กทม.ต้องตรวจสอบเป็นพิเศษ ประกอบด้วย อาคารเสริมมิตรทาวเวอร์ ตึก 30 ชั้น, อาคารชุดเฟิร์สทาวเวอร์ ตึก 22 ชั้น, ศูนย์การค้ามาบุญครอง ตึก 29 ชั้น, ออลซีซั่นส์ พร็อพเพอร์ตี้ ตึก 53 ชั้น จำนวน 1 หลัง, อาคารเอ็มไพร์ ทาวเวอร์ 58 ชั้น,อาคารชัยทาวเวอร์ ตึก 30 ชั้น, อาคารเบญจจินดา 36 ชั้น, อาคารชินวัตร 3 ตึก 32 ชั้น,อาคารไอทาวเวอร์ ตึก 32 ชั้น, อาคารธนาคารทหารไทย ตึก 34 ชั้น, อาคารซันทาวเวอร์ ตึก 40 ชั้น 1 หลัง และ 34 ชั้น 1 หลัง เนื่องจากอาคารดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ใกล้ชุมชน ย่านธุรกิจ และที่สาธารณะ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า อาคารทั้ง 12 อาคารจะไม่มีความปลอดภัยแต่อย่างใด
 
นายพรเทพ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ทาง กทม.ได้ทำหนังสือไปยังเจ้าของอาคารดังกล่าว เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบในด้านของความมั่นคงแข็งแรงของตัวอาคาร และวัสดุที่ใช้ว่าเป็นอันตรายต่อประชาชนหรือไม่ถ้าเกิดเหตุ โดยอาคารส่วนใหญ่ได้ทำการจดทะเบียนการก่อสร้างอาคารก่อนปี 2550 ซึ่งไม่ได้รองรับในเรื่องของเหตุแผ่นดินไหวเอาไว้ ส่วนที่อาคารที่มีการจดทะเบียนภายหลังปี 2550 ก็อยู่ในข่าย พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ปี 2550 ซึ่งระบุไว้ว่า จะต้องเป็นอาคารที่รองรับแรงสั่นสะเทือนได้ไม่ต่ำกว่า 5 ริกเตอร์ อย่างไรก็ตาม จะเร่งให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าวให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น สำหรับตึกร้าง หรืออาคารร้างในพื้นที่ กทม.นั้น บางพื้นที่ทาง กทม.ก็ยังไม่สามารถเข้าไปดำเนินการปรับปรุงแก้ไขได้ เนื่องจากว่ามีข้อจำกัดในเรื่อง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร จึงต้องประสานความร่วมมือไปยังสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เพื่อให้เป็นหน่วยงานกลางในการประสานไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้มีการปรับปรุงแก้ไขต่อไป
 
ทั้งประชาชนที่อยากได้ข้อมูลเพิ่มเติม หรืออยากให้ กทม.เข้าไปตรวจสอบอาคารก็สามารถแจ้งผ่านสายด่วน กทม.1555 ซึ่งทางเจ้าหน้าที่จะส่งข้อมูลต่อไปยังกองควบคุมอาคาร สำนักการโยธาเพื่อดำเนินการต่อไป
 
“จากเหตุการณ์เมื่อคืนมีคนโทร.เข้ามาเยอะมาก โดยเฉพาะผู้ที่พักอาศัยอยู่ในโรงแรมโดยส่วนใหญ่จะถามว่าเขาจะปลอดภัยไหมซึ่งที่แจ้งมาทาง กทม.ทั้งเขตและสำนักการโยธาก็จะเข้าไปตรวจสอบให้ทั้งหมด” นายพรเทพ กล่าว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของตึกออลซีซั่นส์นั้น ได้มีการประสานกับศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ขณะเดียวกัน ก็จะมีระบบเซ็นเซอร์วัดแรงสั่นสะเทือนหากเกิดแผ่นดินไหว และมีการตรวจสอบระบบต่างๆ ของอาคารโดยได้แบ่ง 3 ทีม ในการตรวจสอบหากปลอดภัยก็จะมีการส่งข้อความไปยังลูกค้าที่เช่าอาคารทราบ อย่างไรก็ตาม ทางอาคารได้มีการแจกคู่มือให้กับลูกค้าที่เช่าตึกหรือเข้าพักโรงแรมซึ่งข้อปฏิบัติเบื้องต้นจะแนะนำให้หมอบและหลบ แต่หากมีเสียงสัญญาณเตือนภัยให้รีบอพยพลงมาด้านล่างผ่านทางบันไดหนีไฟทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น