xs
xsm
sm
md
lg

แผ่นดินไหวพม่าตึกสูงกทม.สะเทือน - "สำนักโยธา" ยันอาคารสร้างใหม่ปลอดภัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เหตุแผ่นดินไหวในพม่า 6.7 ริกเตอร์ ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนมายังกทม. โดยหลายอาคารสูงย่าน สีลม สาทร สุขุมวิท รู้สึกได้ถึงแรงสั่น ทางด้าน "สำนักการโยธา" เชื่อไม่กระทบต่อโครงสร้างอาคารที่ปลูกสร้างใหม่ เพราะมีการออกแบบรองรับการสั่นไหวที่มากกว่า 6 ริกเตอร์ขึ้นไป

วันนี้ (24 มี.ค.) กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศว่า เหตุแผ่นดินไหวมีจุดศูนย์กลางในประเทศพม่า เกิดขึ้นเมื่อเวลา 20.55 น.ละติจูด 20? 52' 12'' เหนือ ลองจิจูด 99? 54' 36'' ตะวันออก ขนาด 6.7 ตามมาตราริกเตอร์ ลึกจากระดับผิวดิน 10 กิโลเมตร รู้สึกสั่นไหวได้หลายพื้นที่ของภาคเหนือและอาคารสูงในกทม.  

แรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้น ทำให้บ้านเรือนและอาคารหลายแห่งใน เชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอนสั่นไหวอย่างรุนแรง ผู้คนจำนวนมากเกิดความตื่นตระหนกหากพันหนีออกจากตัวอาคารบ้านเรือน รวมถึงผู้ที่อยู่บนอาคารสูงในกทม.เช่น ในย่านสีลม สาทร และสุขุมวิท ที่รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้อพยพออกมานอกอาคาร เพราะเกรงจะไม่ปลอดภัย

โดยมีรายงานว่าเหตุแผ่นดินไหวดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ใน อ.แม่สาย จ.เชียงราย เป็นหญิงวัย 55 ปี โดยเสียชีวิตจากแผ่นดินไหวทำให้กำแพงพังลงมาทับ

ต่อมามีรายงานข่าวจากสำนักพยากรณ์อากาศ ระบุว่า เกิดอาฟเตอร์ช็อคเกิดขึ้นไม่ไกลจากจุดศูนย์กลางเดิมในประเทศพม่า โดยเป็นแผ่นดินไหวขนาด 4.9 ริกเตอร์ เมื่อเวลา 21.23 น.ที่ละติจูด 20? 35' 24'' เหนือ และลองจิจูด  99? 51' 36'' ตะวันออก ความลึกจากระดับผิวดิน 10 กิโลเมตร  

ทั้งนี้ ชาวบ้านใน อ.แม่สาย เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังคงรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนจากอาฟเตอร์ช็อคที่เกิดขึ้นทุก ๆ 10 นาที ขณะที่นายสมชาย ใบม่วง รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ไกลจากทะเลมากจึงไม่น่าจะเกิดสึนามิตามมา

ทางด้าน นายจุมพล สำเภาพล ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เหตุแผ่นดินไหวในพม่ารู้สึกได้ถึงตึกสูงในกทม. ไม่กระทบต่อโครงสร้างอาคารที่ปลูกสร้างใหม่ เพราะมีการออกแบบรองรับการสั่นไหวที่ระดับโซน 4 เชื่อว่าจะไม่เกิดความเสียหาย

อนึ่งกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้แบ่งเขตที่มีความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวเมื่อปี 2550 ไว้ 3 ระดับ รวม 22 จังหวัด ประกอบด้วย       “บริเวณเฝ้าระวัง” ซึ่งเป็นพื้นที่หรือบริเวณที่อาจได้รับผลกระทบจากแผนดินไหว ได้แก่ จ.กระบี่ ชุมพร พังงา ภูเก็ต ระนอง สงขลาและสุราษฏร์ธานี รวม 7 จังหวัด

“บริเวณที่ 1” ซึ่งเป็นบริเวณหรือพื้นที่ที่เป็นดินอ่อนมากที่อาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในระยะไกล ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปาการ และสมุทรสาคร รวม 5 จังหวัด

 “บริเวณที่ 2”เป็นพื้นที่หรือบริเวณที่อยู่ใกล้รอยเลื่อนที่อาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ได้แก่ กาญจนบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน แพร่ พะเยา แม่ฮ่องสอน ลำปางและลำพูน รวม 10 จังหวัด โดยเขตพื้นที่บริเวณที่ 2 ถือว่ามีความเสี่ยงมากที่สุด โดยเฉพาะกาญจนบุรี ที่มีรอยเลื่อนอยู่บริเวณศรีสวัสดิ์และเจดีย์สามองค์

ทั้งนี้ ได้กำหนดไว้ในกฎกระทรวงกำหนดรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว 2550 ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร 2522 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.2550 เพื่อให้สามารถรองรับแผ่นดินไหวที่มีความแรงมากกว่า 6 ริกเตอร์ขึ้นไป
กำลังโหลดความคิดเห็น