วธ.เตรียมเสนอยูเนสโกยกย่อง “สมเด็จพระพันวัสสา” เป็นบุคคลสำคัญของโลก ขณะที่ “นิพิฏฐ์” เผย ทรงมีพระราชอัจฉริยภาพนานัปการ ทั้งด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์สุขภาพ และการอนุรักษ์พัฒนาวัฒนธรรม พร้อมส่งเอกสารเสนอพระนามาภิไธย ต่อ ยูเนสโกแล้ว คาดสามารถประกาศผลได้ ต.ค.นี้
วันนี้ (21 มี.ค.) นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้แจ้งมายัง วธ.ว่า องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เชิญชวนให้ประเทศสมาชิกเสนอชื่อบุคคลสำคัญ หรือผู้มีผลงานดีเด่น และเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่ช่วยเพิ่มพูนคุณค่าทางวัฒนธรรม ส่งเสริมความเข้าใจ ความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ เพื่อประกาศยกย่องและร่วมเฉลิมฉลองเป็นบุคคลสำคัญของโลกในปี 2555 - 2556 ขณะนี้ วธ.ได้รับพระบรมราชานุญาตให้เชิญพระนามาภิไธยสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า หรือ สมเด็จพระพันวัสสา เสนอเป็นบุคคลสำคัญผู้มีผลงานดีเด่นด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์สุขภาพ และการอนุรักษ์พัฒนาวัฒนธรรม เพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสวันพระราชสมภพครบ 150 ปี วันที่ 10 กันยายน 2555 ซึ่งขณะนี้ วธ.ได้ส่งเอกสารประกอบการเสนอพระนามาภิไธย สมเด็จพระพันวัสสา ไปยังยูเนสโกเรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่าจะประกาศรายชื่อยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก ประมาณเดือนตุลาคม 2554
นายนิพิฏฐ์ กล่าวต่อว่า สมเด็จพระพันวัสสา มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) และเจ้าจอมมารดาเปี่ยม ทรงเป็นพระภรรยาเจ้า ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) อีกทั้งทรงเป็นพระบรมราชชนนี ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก หรือ พระราชบิดาแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ด้วย ทั้งนี้ การเสนอสมเด็จพระพันวัสสา เป็นบุคคลสำคัญของโลกต่อยูเนสโก เนื่องจากได้พิจารณาเห็นว่า พระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพ และพระราชกรณียกิจนานัปการ เช่น ทรงอบรมกล่อมเกลา สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ให้ทรงเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาการแพทย์ การสาธารณสุขของไทย จนได้รับการถวายพระสมัญญาว่า พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและสาธารณสุขของไทย และทรงอบรมสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ ให้ทรงสนพระทัยเรื่องการศึกษาของสตรี จนได้ตั้งโรงเรียนสำหรับสตรี ปัจจุบันได้พัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์
รมว.วธ.กล่าวต่อว่า พระองค์ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ด้านการศึกษา การพัฒนาวิทยาศาสตร์สุขภาพ และการอนุรักษ์และพัฒนาวัฒนธรรม เช่น พระราชทานพระราชทรัพย์พัฒนาระบบการศึกษาและซ่อมแซมอาคารเรียน เช่น โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง (โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย) โรงเรียนวรนารีเฉลิม จ.สงขลา และปี 2478 พระราชทานพระราชทรัพย์ร่วมสร้างตึกอลัมเบต์ โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก กรุงเทพฯ และปี 2469 สมเด็จพระพันวัสสา ทรงร่วมกับ
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ (พระธิดา) ก่อตั้งโรงเรียนราชินี บริเวณถนนเขียวไข่กา บางกระบือ โดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ปัจจุบันคือ โรงเรียนราชินีบน
นายนิพิฏฐ์ กล่าวอีกว่า ด้านศาสนาพระองค์ทรงพระราชทานทรัพย์เป็นทุนการศึกษาบำรุง มหามกุฎราชวิทยาลัย สถาบันการศึกษาของพระสงฆ์ รวมทั้งจัดพิมพ์หนังสือธรรมะชาดกต่างๆ และพระราชทานให้โรงเรียน ขณะที่ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ทรงช่วยเกื้อหนุนการรักษาพยาบาลผ่านพระราชกรณียกิจด้านสภากาชาดไทย รวมทั้งจัดตั้งสถานรักษาพยาบาลที่ ต.ศรีราชา ปัจจุบันคือโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา และการพระราชทานความช่วยเหลือและพระราชทานทรัพย์แก่โรงพยาบาลศิริราชอย่างต่อเนื่อง
นายนิพิฏฐ์ กล่าวต่อไปว่า การอนุรักษ์พัฒนาวัฒนธรรม พระองค์ได้ทรงจัดตั้งโรงเย็บผ้า ณ พระที่นั่งทรงธรรม สวนศิวาลัย จนสามารถพัฒนางานให้เป็นอาชีพให้แก่กลุ่มสตรีและข้าราชบริพาร โดยปี 2436 ได้ส่งผลงานหัตถกรรมของสตรีไทย ไปจัดแสดงในงานศิลปหัตถกรรมของสตรี ณ พิพิธภัณฑ์เวิร์ลด์โคลัมเบียน นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา และส่งผลให้ประเทศไทยได้รับรางวัลจากการประกวดผลงาน 101 รายการ โดยมีสิ่งของที่ทรงจัดหาและผลงานฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระพันวัสสา 21 รายการ